10 กระทรวง MOU ครั้งประวัติศาสตร์ คิกออฟฐานข้อมูลเกษตรแห่งชาติ สร้างมิติใหม่ Big Data ด้านเกษตร

25 Dec 2019
วันนี้ (25 ธันวาคม 2562) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ในครั้งนี้ว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทั้ง 10 กระทรวง ร่วมกันสร้างมิติใหม่ของวงการเกษตรสู่ Digital Thailand 4.0 โดยร่วมกันพัฒนาระบบฐานข้อมูล เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยมาตรฐานเดียวกันสู่รัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มุ่งขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร ด้วยฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ
10 กระทรวง MOU ครั้งประวัติศาสตร์ คิกออฟฐานข้อมูลเกษตรแห่งชาติ สร้างมิติใหม่ Big Data ด้านเกษตร

ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการจัดทำ Big Data มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2559 โดยจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data ของกระทรวงเกษตรฯ และพัฒนาต่อยอดสู่โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติในปีนี้ เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลด้านการเกษตรจากหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ และอีก 9 กระทรวง (8 กระทรวง และ 1 หน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ประกอบด้วย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายอนันต์ สุวรรณรัตน์) เป็นผู้ลงนามร่วมกับผู้บริหารอีก 9 กระทรวง

สำหรับความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสารสนเทศการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน และข้อมูลทางด้านการเกษตรอื่นๆ ที่จำเป็น โดยกระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการตลาด กระทรวงการคลัง สนับสนุนแหล่งข้อมูลด้านการเงินของเกษตรกร รวมทั้งแหล่งเงินทุน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น

ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญ โรงงานและแหล่งที่ตั้ง กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนข้อมูลการใช้ผลผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางด้านอาหาร และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นอันตราย ส่วนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จะเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาในการพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สนับสนุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 10 กระทรวง มีความพร้อมเต็มที่ในการสนับสนุนระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อนำมาวิเคราะห์ในส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ภาคเกษตร ทั้งด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้า และด้านทรัพยากรเกษตร และนำมาจัดเก็บเข้าสู่ฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติต่อไป

การขับเคลื่อนในระยะแรก จะผลักดันฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา รวมทั้งฐานข้อมูลเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนเกษตร และจะขยายเพิ่มอีก 8 สินค้า ให้ครบ 13 สินค้า ภายในมกราคมปี 2563 รวมทั้งขยายฐานข้อมูลด้านปศุสัตว์และประมงในระยะต่อไป โดยปัจจุบัน ทุกท่านสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลได้ผ่าน http://agri-bigdata.org และระยะถัดไป จะเร่งดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล 10 กระทรวง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะนี้ สศก. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ Big Data ด้านการเกษตร โดยมีแนวทางการจัดตั้งเป็นหน่วยงานในสังกัด สศก. เทียบเท่าศูนย์/สำนัก และเตรียมความพร้อมบุคลากรประจำศูนย์เพื่อปฏิบัติงานและให้บริการข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้ มั่นใจว่า โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ นับเป็นก้าวสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ที่ทุกหน่วยงาน ได้ร่วมกันยกระดับการพัฒนาและปฏิรูปภาคการเกษตรให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน รวดเร็ว แม่นยำ โดยใช้ระบบ AI ให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 4.0 ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านนโยบาย การพยากรณ์ และการเตือนภัยด้านการเกษตร อีกทั้งทุกภาคส่วนยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล ซึ่งก่อให้ให้เกิดการต่อยอดธุรกิจและบริการใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) สู่บริการข้อมูลข่าวสารทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร

HTML::image( HTML::image(