นายมีศักดิ์
ภักดีคง
อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อให้การสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาเขตรักษาพันธุ์
สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และ
การบริหารจัดการสัตว์ป่า
ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วนั้น และได้มีการกำหนดชนิดของสัตว์ป่าสงวน (สัตว์น้ำ) เพิ่มขึ้นอีก 4 ชนิดด้วยกันคือ
วาฬบรูด้า(Balaenoptera edeni) วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai) เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) และฉลามวาฬ (Rhincodon typus) โดยที่ กรมประมงเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุม ตรวจสอบ ออกใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสัตว์ป่าสงวนหรือซากสัตว์ป่าสงวน (สัตว์น้ำ) ทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวด้วย โดยผู้ใดมีสัตว์ป่าสงวนซากสัตว์ป่าสงวนดังกล่าวไว้ใน
ครอบครอง และประสงค์จะครอบครองสัตว์ป่าสงวน ซากสัตว์ป่าสงวน ให้มาแจ้งการครอบครองฯ ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 นี้เท่านั้น แต่ถ้าหากไม่ประสงค์จะครอบครองสัตว์ป่าสงวนดังกล่าวต่อไป ให้ผู้ครอบครองจำหน่าย จ่าย หรือโอนให้แก่ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการสวนสัตว์หรือสวนสัตว์ของรัฐได้ ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ถ้าหากยังมีสัตว์ป่าสงวนเหลืออยู่ในความครอบครองอีกเท่าใดให้ถือว่า ผู้ครอบครองสัตว์ป่าสงวนนั้นยินยอมให้ตกเป็นของแผ่นดิน และให้ผู้นั้นส่งมอบสัตว์ป่าสงวนให้แก่กรมประมงเพื่อนำไปดำเนินการตามระเบียบของกรมประมงโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการต่อไป ผู้รับใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าสงวนชั่วคราวจะจำหน่าย จ่าย หรือโอนสัตว์ป่าสงวนต่อไปไม่ได้ เว้นแต่โดยการตกทอดทางมรดก สำหรับผู้รับใบรับรองการครอบครองซากสัตว์ป่าสงวนจะจำหน่ายจ่าย หรือโอนซากสัตว์ป่าสงวนได้นั้นต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือตกทอดทางมรดกเท่านั้น
กรมประมงขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีสัตว์ป่าสงวน หรือซากสัตว์ป่าสงวนทั้ง 4 ชนิดดังกล่าวไว้ในครอบครองเตรียมเอกสาร หลักฐานการได้มา ภาพถ่าย หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถยืนยันความเป็นเจ้าของ ดังต่อไปนี้
1. แบบแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าสงวนหรือซากสัตว์ป่าสงวน
2. บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
3. สำเนาทะเบียนบ้าน
4. ภาพถ่ายสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าสงวน หรือเครื่องหมาย (กรณีมีการติดสติ๊กเกอร์ ตอกรหัสหมายเลขหรือวิธีการอื่นใด) ที่สามารถเห็นรายละเอียด ลักษณะ และจำนวนอย่างชัดเจน(ถ้ามี) ตามแบบภาพถ่ายสัตว์ป่าสงวนหรือซากสัตว์ป่าสงวน
5. หลักฐานการมีไว้ในครอบครอง หรือการได้มาซึ่งสัตว์ป่าสงวน หรือซากสัตว์ป่าสงวน (ถ้ามี)เช่น ใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว (สป.2) หรือใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง (สป.3)
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อให้การอนุรักษ์คุ้มครอง ดูแลรักษา ฟื้นฟูสัตว์ป่าสงวนรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมประมงจึงขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าสงวน หรือซากสัตว์ป่าสงวนมายื่นแจ้งการครอบครองสัตว์ป่า หรือซากสัตว์ป่าสงวน (สัตว์น้ำ) ทั้ง 4 ชนิดข้างต้น ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 นี้เท่านั้น โดยสามารถแจ้งได้ที่กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง และสำนักงานประมงจังหวัดทั่วประเทศในวันและเวลาราชการ
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมงโทรศัพท์ 0 2579 9767 และ 0 2561 4689
HTML::image(