ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้มีการติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย อาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลต่อคุณภาพน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร นอกจากนี้ ยังได้ติดตามคุณภาพของแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ 25 ลุ่มน้ำ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมชลประทาน (ชป.) และสำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมภาค (สสภ.) อีกด้วย ทั้งนี้ สถานการณ์คุณภาพน้ำของ 4 แม่น้ำสายหลักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีแม่น้ำที่ค่าความเค็มเกินค่าเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง
"ที่ผ่านมา สทนช. ได้มีการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า พร้อมประสานเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประปานครหลวง (กปน.) และ กรมชลประทาน (ชป.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้ กปน. มีการติดตามการเฝ้าระวังเกณฑ์คุณภาพน้ำดิบ หากค่าความเค็มที่จุดตรวจวัดสะพานพระนั่งเกล้า มีค่าเกิน 2 กรัม/ลิตร กปน.จะประสานกรมชลประทานเพื่อระบายน้ำผลักดันน้ำเค็ม ไม่ให้รุกล้ำถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล และหากหน้าสถานีสูบน้ำดิบสำแลมีค่าความเค็มเกิน 0.25 กรัม/ลิตร จะดำเนินการบริหารจัดการสูบน้ำดิบให้เหมาะสมตามเกณฑ์คุณภาพน้ำ รวมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทาน ในการลดการรับน้ำดิบจากฝั่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและเพิ่มการรับน้ำดิบจากฝั่งแม่กลอง 200,000 ลบ.ม./วัน เพื่อบรรเทาสถานการณ์คุณภาพน้ำ โดยปัจจุบันกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและป้องกันน้ำเค็มตลอดฤดูแล้ง 4 มาตรการ คือ 1) การบริหารจัดการน้ำจะพิจารณาให้สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล 2) ควบคุมการปิดเปิดประตูระบายน้ำตามคลองต่าง ๆ ไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่การเกษตร 3) วางแผนและดำเนินการบริหารจัดการน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ การลำเลียงน้ำจากคลองและแม่น้ำสายหลัก เร่งผลักดันน้ำเพื่อลดค่าความเค็มและผลกระทบด้านคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง 4) ดำเนินการช่วยเหลือรถบรรทุกน้ำเพื่อขนส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกร โดยกำหนดให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องหมุนเวียนในพื้นที่" ดร.สมเกียรติ กล่าว
ขณะเดียวกัน สทนช. ได้ประสาน คพ. สสภ. กปภ. ให้ดำเนินการติดตามคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยทำการตรวจวัดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวัง และควบคุมค่าความเค็มทุกวันจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง ประกอบด้วย 1) สถานีสูบน้ำสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 0.25 กรัม/ลิตร 2) ปากคลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 0.75 กรัม/ลิตร 3) ปากคลองดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 2.00 กรัม/ลิตร 4) อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ปราจีนบุรี ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 1 กรัม/ลิตร โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเร่งด่วนและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากบริเวณใดมีแนวโน้มส่งผลกระทบ จะสามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขและให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit