สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) หรือ สทน. ประยุกต์องค์ความรู้ด้านนิวเคลียร์ นำมาวิจัย พัฒนา และคิดค้น 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับเกษตรกรไทย เปิดตัวด้วย “ไมโครไคโตซาน” ใช้สำหรับเป็นฮอร์โมนเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ช่วยปรับสภาพดิน สร้างภูมิต้านทานโรคให้กับพืช ใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์เพื่อยืดอายุการเก็บผลผลิต และ “พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง” สำหรับใช้เก็บกัก อุ้มน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน ซึ่งการใช้ทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนทางการเกษตรแล้ว ยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการ (บริหาร) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) เปิดเผยว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) หรือ สทน. เป็นสถาบันชั้นนำ ในการวิจัยที่ใช้นิวเคลียร์แก้ไขปัญหาของประเทศ หนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญคือ การวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการประยุกต์ใช้ ซึ่งปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีการทำเกษตรเป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP ภาคการเกษตร โดยมีพื้นที่สำหรับการเกษตรประมาณ 138 ล้านไร่ โดยแบ่งออกเป็นข้าว 70 ล้านไร่ ยาง 20 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 9 ล้านไร่ และอื่นๆอีก 39 ล้านไร่ หนึ่งในปัญหาที่พบคือ ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการหาวิธีป้องกัน และดูแลพืชผลทางการเกษตร ซึ่งในอนาคตเกษตรกรต้องรับความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น สทน. โดยกลุ่มพัฒนาธุรกิจนิวเคลียร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์กับภาคการเกษตร จึงได้คิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับช่วยเหลือเกษตรกร ได้แก่ “ไมโครไคโตซาน” สำหรับใช้เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และ “พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง” สำหรับใช้เก็บกัก อุ้มน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้กับดินที่ใช้ปลูกพืช
“ สทน. มีเทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นจำนวนมาก การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์สร้างขึ้นมาสำหรับช่วยเกษตรกร เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของ สทน. ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ตัวนี้ ผ่านกระบวนการคิดค้น และวิจัย โดยนักวิจัยและพัฒนาของ โครงการ กลุ่มพัฒนาธุรกิจนิวเคลียร์ มาเป็นอย่างดี สทน. มีความคาดหวังเป็นอย่างสูง ว่าจะสามารถสร้างการรับรู้ และการยอมรับจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจและนำผลิตภัณฑ์ทั้งสองนี้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทย ” ดร.หาญณรงค์ กล่าว
ดร.ปรารถนา คิ้วสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ กล่าวถึง ผลิตภัณฑ์ “ไมโครไคโตซาน” ว่า ผลิตจากสารตั้งต้นจำพวก เปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก โดยนำมาฉายรังสี เพื่อให้ตัวผลิตภัณฑ์มีขนาดเล็กลงในระดับไมโคร ซึ่งเมื่อนำไปใช้กับพืชชนิดต่างๆ จะเกิดการดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างๆของพืชเติบโตแข็งแรง ให้ผลผลิตที่มากกว่า ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากยิ่งขึ้น และช่วยให้ต้นทุนปุ๋ยลดลง สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ก็ได้ มี 2 รูปแบบ คือ แบบผง และแบบแผ่น มีประโยชน์มหาศาลในทางการเกษตร เช่น ใช้เคลือบเมล็ดพันธุ์ ใช้ป้องกันแมลง ใช้ร่วมกับปุ๋ยทั่วไปได้ มีคุณสมบัติในการปรับสภาพดิน ต่อต้านโรคของพืช และยืดอายุการจัดเก็บผลผลิต
ดร.พิริยาธร สุวรรณมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ กล่าวถึง ผลิตภัณฑ์ “พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง”สำหรับช่วยเก็บน้ำไว้ให้ต้นไม้ หรือพืช สำหรับเกษตรกรว่า ผลิตภัณฑ์นี้ผลิตมาจากแป้งมันสำปะหลัง โดยนำมาผ่านการฉายรังสี เพื่อปรับคุณสมบัติให้ไม่ละลายน้ำ แต่บวมน้ำได้ดี มีจุดเด่นที่สามารถประหยัดน้ำได้นาน 7-14 วัน สามารถย่อยสลายได้ภายใน 1-2 ปี จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ส่วนวิธีการใช้นั้นเพียงนำไปแช่น้ำไว้ 24 ชั่วโมง เพื่อให้กลายเป็นวุ้น จากนั้นนำไปฝัง ณ จุดที่มีรากฝอย หรือคลุกกับดิน เพียงเท่านี้ ก็สามารถช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับเกษตรกร หรือคนที่ชอบปลูกต้นไม้แต่ไม่ค่อยมีเวลา หรือ ต้องเดินทางบ่อย หรือสถานที่ที่ขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถรดน้ำต้นไม้ได้บ่อย ๆ
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ยังคงมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านนิวเคลียร์ มาสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของ สทน. สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.tint.or.th และเพจเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/thai.nuclear นอกจากนี้หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ “ไมโครไคโตซาน” สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณจันทราวดี โทร. 061-412-7340 , คุณมงคล โทร. 085-487-4009 และ “พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง” สอบถามได้ที่ คุณมงคล โทร. 085-487-4009 และสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านทาง LINE@ ไมโครไคโตซาน โดย สทน.