สสส. สสย. ร่วมกับ จ.พะเยา และภาคีเครือข่าย ชูเมืองพะเยา 3 ดีฯ ปลุกแรงบันดาลใจใช้สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี สร้างสุขให้ทุกวัยในชุมชน

03 Mar 2020

สสส., สสย. ร่วมกับ จ.พะเยา และภาคีเครือข่าย ชูเมือง “พะเยา 3 ดีฯ” ปลุกแรงบันดาลใจ ใช้ “สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี” สร้างสุขให้ทุกวัยในชุมชน

สสส. สสย. ร่วมกับ จ.พะเยา และภาคีเครือข่าย ชูเมืองพะเยา 3 ดีฯ ปลุกแรงบันดาลใจใช้สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี สร้างสุขให้ทุกวัยในชุมชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และภาคีเครือข่าย จับมือ จ.พะเยา ร่วมกันจัดงาน “ตลาดนัดพะเยา 3 ดี : มหัศจรรย์ชุมชนวิถีสุข (การเรียนรู้ วิถีกินอยู่ และสื่อสร้างสรรค์) สุขภาวะออกแบบได้” หรือ “พะเยา 3 ดีฯ” ระหว่างวันที่17 – 18 กุมภาพันธ์ 2563 ณ บริเวณชุมชนบ้านใหม่ราษฎร์บำรุงและบริเวณลานวัดราษฏร์บำรุง ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เปิดพื้นที่ตัวอย่างรูปธรรมการนำแนวคิด 3 ดีวิถีสุข (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) มาปรับใช้ในชุมชนและครอบครัว โดยมีกิจกรรมหลากหลายทั้งการเดินทางออกเรียนรู้ชุมชน เนรมิตรลานวัดเป็นลานเล่น ลานแสดง และลานศิลปะวัฒนธรรม รวมถึงเปิดวงเสวนาถกประเด็นแลกเปลี่ยนแนวคิดชูพะเยาสู่ “เมืองพะเยา 3 ดี มหัศจรรย์ชุมชนวิถีสุข : การเรียนรู้วิถีกินอยู่และสื่อสร้างสรรค์ สุขภาวะออกแบบได้”

คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ว่า กิจกรรมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ สสย. และภาคีเครือข่ายได้ทำงานร่วมกับครูปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นที่ จ.พะเยา ด้วยการนำแนวคิด 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพครูนำสู่การพัฒนาเด็ก ภายใต้โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเข้าร่วมทั้งสิ้น 36 ศูนย์จาก 9 อำเภอ ซึ่งพบว่าการดำเนินการมีผลลัพธ์ที่น่าสนใจ มีการขยายผลนำแนวคิด 3 ดีไปปรับใช้อย่างหลากหลายและเป็นรูปธรรมทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดพะเยา จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมพะเยา 3 ดีฯ ในครั้งนี้

“แนวคิด 3 ดีวิถีสุข เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติที่มุ่งพัฒนาความเป็นพลเมืองตื่นรู้พร้อมไปกับการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม มีความสุขและรู้เท่าทัน โดยงานครั้งนี้เราจัดขึ้นในรูปแบบของตลาดนัด เพื่อเป็นการนำแนวคิดนี้มาสื่อสารในพื้นที่สาธารณะ ให้คนทุกวัยได้สัมผัสและร่วมกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เราจะได้เห็นว่าแนวคิด 3 ดีที่ประกอบด้วย สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี เมื่อนำมาปรับใช้ในชุมชนและครอบครัว จะมีลักษณะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เกิดประสบการณ์และแรงบันดาลใจ ตระหนักถึงคุณค่าของต้นทุนที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งภูมิปัญญา วิถีความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ของชุมชน ในการต่อยอดสู่การพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของคนทุกวัย ขณะเดียวกัน ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า วิถีชีวิตสุขภาวะที่มีความสุขในทุกมิติทั้งกาย จิต สังคม และปัญญา เป็นสิ่งที่ชุมชนและครอบครัวสามารถออกแบบและลงมือสร้างสรรค์ทำได้ในทันที”

ด้าน คุณครูบุปผา คนสนิท ประธานชมรมเครือข่ายผู้ดูแลเด็กจังหวัดพะเยา ได้กล่าวถึงผลการเปลี่ยนแปลงในชุมชนว่า “หลังจากได้เริ่มต้นนำแนวคิด 3 ดีมาใช้ในศูนย์เด็กเล็ก ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ว่าเด็กได้เล่นจริง เรียนรู้จริง จึงเริ่มขยายแนวคิดนี้ไปยังครอบครัว โดยแต่ละครอบครัวที่นำแนวคิด 3 ดีไปใช้ก็จะมีการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านของตนเอง เช่น มุมรักการอ่าน มุมเล่น มุมปลูกผักสวนครัว มีการคัดแยกขยะ ฯลฯ ซึ่งหลังจากทำแล้วพบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ การอ่าน การกล้าแสดงออก มีทักษะการสื่อสารที่ดีมากยิ่งขึ้น เราก็เลยริเริ่มขยายแนวคิดนี้ต่อยอดไปสู่ชุมชน โดยใช้พื้นที่ลานวัดเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างกิจกรรมให้คนทุกวัยได้มาใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนก็เอาภูมิปัญญามาให้เด็กๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ หลังจากทำแล้วการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนมากๆ คือ เราเห็นผู้สูงวัยในชุมชนมีความสุข มีรอยยิ้มจากการได้มาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ชุมชนมีความรักความสามัคคีมากขึ้นจากการที่ทุกคนได้มีพื้นที่มาพบปะพูดคุยกัน นอกจากนี้คนในชุมชนยังได้เรียนรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น เราช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เด็กๆ ก็มีกิจกรรมหลากหลายนอกจากเรื่องของการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในมือถือ เกิดการเรียนรู้และมีความสุขร่วมกันทุกวัยในชุมชน”

HTML::image( HTML::image( HTML::image(