สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย ร่วมจัดใหญ่งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ของสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย หรือ The 37th International Conference of the Microscopy Society of Thailand – MST37 ระหว่างวันที่ 25 – 28 ก.พ. 2563 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ โรงแรมแคนทารี จ.นครราชสีมา โดยมีนักวิทย์ฯ จากทั่วประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 200 ท่าน ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความทันสมัยแห่งหนึ่งระดับโลก เราเป็นสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแห่งเดียวในประเทศไทย เปิดให้บริการแสงฯ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยทั้งจากภาครัฐ และอุตสาหกรรม นำไปสู่การตีพิมพ์ผลงานวิจัย ปรับปรุงกระบวนการผลิต และสร้างสรรค์นวัตกรรม
โดยในปีนี้ สถาบันฯ ได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติของสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย หรือ The 37th International Conference of the Microscopy Society of Thailand – MST37 โดยมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมการประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ สร้างความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านจุลทรรศน์ของประเทศไทย
ในงานประชุมเราได้รับเกียรติจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ ตอบรับร่วมบรรยายพิเศษมากมาย อาทิ นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียนซินโครตรอน มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เป็นต้น ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณประธานและคณะกรรมการจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้”
ดร.ชัญชณา ธนชยานนท์ นายกสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประชุมวิชาการระดับนานาชาติของสมาคมจุลทรรศน์แห่งประเทศไทย มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้เป็นครั้งที่ 37 ซึ่งจัดขึ้น ณ สถาบันวิจัยแสงวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา โดยมีการเชิญวิทยากรมาบรรยายและการนำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งแบบ oral และ poster Session นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการประกวดภาพถ่ายทางจุลทรรศน์ ตลอดจนการออกบูทนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์เครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงจากภาคเอกชน
ขอขอบคุณสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่ให้เกียรติร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม และขอขอบคุณนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ อาจารย์ นักศึกษาจากทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ ทางสมาคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า งาน MST37 จะเป็นสะพานเชื่อมงานวิจัยด้านแสงซินโครตรอน และด้านจุลทรรศน์ของประเทศไทย ตลอดจนงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2564 มหาวิทยาลัยบูรพาได้ตอบรับเป็นเจ้าร่วมจัดงานประชุมครั้งที่ 38 เรียบร้อยแล้ว หวังว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านอีกครั้งในปีหน้า”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit