สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) จัดโครงการ “เรียนรู้เพื่อเท่าทันการพนันและสารพันเรื่องเสี่ยง” กับกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และเครือข่ายครู ระหว่างเดือนธันวาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็ก เยาวชน ครู และอาสาสมัครของสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (บพ.) จากสถานการณ์การพนันที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเพราะผู้เล่นเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา มีทั้งเว็บพนันและแอพพลิเคชั่นพนันหลากหลายประเภท ใช้กลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบเจาะกลุ่มนักพนันหน้าใหม่ ชักจูงให้เด็กและเยาวชนติดกับดักการพนันโดยไม่รู้ตัว
ผลสำรวจสถานการณ์การพนันในกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยเครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ พ.ศ. 2562 พบว่า ร้อยละ 42.38 ของเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการเป็นนักพนันหน้าใหม่โดยการพนันออนไลน์มีอิทธิพลอย่างมากในการชักจูงให้ตัดสินใจเล่น ซึ่งเครือข่ายฯพบว่าปัจจุบันมีเว็บพนันมากกว่า 2 แสนเว็บไซต์เปิดให้สมัครเข้าเล่นพนันได้โดยไม่สนใจว่าผู้เล่นจะเป็นเด็กและเยาวชนหรือไม่ขอเพียงมีบัญชีธนาคารเท่านั้น และส่วนใหญ่แฝงการโฆษณามาในเว็บดูหนังฟังเพลงที่เด็กและเยาวชนชอบเปิดรับ การพนันที่นิยมเล่นเป็นอันดับแรกคือไพ่ประเภทต่างๆรองลงมาคือเกม, สลอตแมชชีน และอันดับที่สามคือการพนันทายผลฟุตบอลหรือกีฬาต่างๆ เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกอายุต่ำสุดอยู่ที่7 ขวบ โดยผู้ปกครองและผู้ใหญ่รอบตัวมีส่วนในการปลูกฝังให้เด็กรู้สึกว่าการพนันเป็นเรื่องปกติจากการสร้างค่านิยมว่าเด็กเป็นตัวนำโชค
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการความร่วมมือระหว่าง สสส. มรพ. และ บพ. ว่า “ธุรกิจการพนันในยุคดิจิทัลมีพัฒนาการมากขึ้น มีกระบวนการทางการตลาดที่แข็งแรง มีโฆษณาและวิธีการหลอกล่อกลุ่มเป้าหมายให้ติดกับดักมากขึ้น เช่น ให้เล่นก่อนจ่ายที่หลัง มีรางวัลใหญ่ล่อใจ ว่าจ้างให้วัยรุ่น ดารา และผู้มีบทบาทในการโน้มน้าวทางความคิดหรือ Influencer รีวิวและบอกต่อกันว่าเล่นง่าย จ่ายจริง จ่ายไว และที่สำคัญมาในรูปแบบเป็นเกมให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกเหมือนไม่ได้เล่นพนัน แต่นั่นคือการเล่นพนัน ซึ่งอยู่ใกล้ตัวมาก การห้ามปรามไม่ให้เล่นเป็นเรื่องยาก เราคงสู้กับพวกธุรกิจการพนันที่มีทั้งเงินทุนมหาศาลและมีกลยุทธ์ทางการตลาดมากมายในการชักจูงนักพนันหน้าใหม่ไม่ไหว แต่การเติมความรู้และพัฒนาศักยภาพครูเพื่อไปส่งต่อให้กับเด็กและเยาวชนต่างหากที่สำคัญ เราต้องสู้ด้วยความรู้ ให้เด็ก-เยาวชนมีภูมิรู้เท่าทันการพนัน เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ไม่ติดพนัน และเครือข่ายครูยังสามารถส่งเสียงให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาควบคุมดูแล วางมาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจังและรอบคอบที่สุด ไม่ให้มีการเพิ่มรูปแบบการพนันต่างๆ เข้ามาในสังคมมากขึ้นอีก”
เครือข่ายครูและอาสาสมัครของสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ เห็นประโยชน์ในการนำองค์ความรู้เพื่อเท่าทันการพนันไปบูรณาการในพื้นที่ของตนเอง ทั้งในระดับโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน โดย นส.วรัทยา ธนาสินอังกูร ครูระดับประถมศึกษา โรงเรียนวัดคุณหญิงส้มจีน จ.ปทุมธานี เครือข่ายครูภาคกลาง กล่าวว่า “หลายคนคิดว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ เช่น กลุ่มวัยรุ่นที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในชุมชนละแวกโรงเรียนจะเข้าถึงการพนันได้ง่าย และคิดว่าเป็นช่องทางหาเงินได้ง่าย ในขณะที่ผู้ปกครองก็จะให้เด็กมาเป็นตัวนำโชคในการทายผลหรือเสี่ยงดวงในการพนันจึงทำให้เด็กเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติไปด้วย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เราเป็นครูก็จะไปส่งต่อความรู้ด้วยการจัดประชุมเครือข่ายครูในระดับการศึกษาและในพื้นที่เพื่อร่วมกันวางมาตรการป้องกันการพนันในชุมชนด้วยการจัดกิจกรรมหรือจัดบอร์ดให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครอง เพื่อให้รู้เท่าทันการพนันมากขึ้น เห็นถึงโทษของการพนันว่ามันมีแต่เสียกับเสีย ส่วนใหญ่ที่ได้กันนั้นมันคือกับดักที่ล่อลวงเราให้เข้าไปติด”
ด้าน นส.พนิดา แก้วมาลา ครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย เครือข่ายครูภาคเหนือ กล่าวว่า “การพนันมีผลกระทบต่อเด็กแน่นอน โดยเฉพาะในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อจากมัธยมปลายไปเข้ามหาวิทยาลัย เราอยากให้เด็กเรียนดี สอบเข้าได้ แต่การที่เด็กมาติดเกมออนไลน์ ไม่มีสมาธิเรียนหนังสือก็เป็นเรื่องที่โรงเรียนไม่ได้นิ่งนอนใจ ครูจะนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแยกแยะ วิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กที่มีผลการเรียนไม่ดี ขาดเรียนบ่อยว่าแข้าข่ายติดพนันไหม จากนั้นจะหามาตรการในการช่วยเหลือและแก้ไขให้เขาก้าวพ้นจากความเสี่ยงนั้น อีกส่วนจะทำเชิงป้องกัน คือจัดการเรียนการสอนที่สอดแทรกเรื่องการรู้เท่าทันการพนัน เพื่อป้องกันไม่ให้หลงไปติดกับดักการพนันต่างๆ”
นางกรองทอง กิจวิบูลย์ ข้าราชการบำนาญครู โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ. นครศรีธรรมราช เครือข่ายครูภาคใต้ ให้ความเห็นว่า “เดี๋ยวนี้การพนันเข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้น พ่อแม่เลี้ยงลูกด้วยมือถือ กว่าจะรู้ว่าเด็กติดเกม ติดพนัน อาจจะสายเกินแก้ แม้เราจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็มีชมรมครูที่จะสามารถเข้าไปเชื่อมโยงการสื่อสารรณรงค์เรื่องพนันได้ หรือเชื่อมประสานกับโครงการแผนที่สุขภาพของภาคใต้ ที่ได้รับทุนจาก สสส. เช่นกัน เพื่อสอดแทรกประเด็นการพนันเข้าไปด้วย”
นางปิยะมาศ เจริญวงศานนท์ ประธานฝ่ายโปรแกรม สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยฯ (บพ.) และผู้ประสานงานโครงการ “เรียนรู้เพื่อเท่าทันการพนันและสารพันเรื่องเสี่ยง” กล่าวถึงการเตรียมขยายผลโครงการนี้ว่า “บพ. มีสมาชิกมากกว่า 100 โรงเรียนทั่วทุกภูมิภาค คณะกรรมการสมาคมฯ มีการบริหารงานผ่านคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งมีศักยภาพในการนำประเด็นลดปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการพนันไปดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ เพื่อร่วมช่วยกันสร้างเกราะป้องกันปัญหาการพนัน ทั้งในระดับโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนให้เป็นรูปธรรมต่อไป”
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit