นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ โดยในรอบปี 2562 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งปีที่แล้วมีฝนตกทั้งปี 1,342.6 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับปีที่แล้งมากคือ ปี 2558 มีฝนตก 1,419.6 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่าปี 2562 ฝนตกน้อยกว่า ปี 2558 และจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยานับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ยังพบว่า ปี 2562 มีฝนตกน้อยที่สุดในรอบ 40 ปี โดยเฉพาะฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม – เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา มีฝนตกทั้งประเทศเพียง 1,114 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 12 ทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีน้ำใช้การเหลือน้อยไม่เกินร้อยละ 30 ของความจุอ่าง จำนวน 14 แห่ง เมื่อฝนตกน้อยน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีเหลืออยู่น้อยเช่นกัน จึงไม่สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกตามปกติได้ แม้ระยะนี้จะมีฝนตกลงมาบ้างก็ตามแต่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการมาตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียน แจ้งข่าวเพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรได้ปรับตัวในภาคการผลิตและใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมาได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในบางพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่าปีนี้จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนประมาณปลายเดือนพฤษภาคม และอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเร่งแจ้งเตือนเกษตรกรให้รับทราบสถานการณ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะพืชที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 2 กลุ่ม คือ 1) การปลูกข้าวรอบที่ 2 เกรงว่าจะขาดแคลนน้ำได้เนื่องจากใช้น้ำมาก ซึ่งปีนี้คณะกรรมการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้กำหนดพื้นที่การเพาะปลูกตามศักยภาพน้ำ มีแผนควบคุมพื้นที่การปลูกข้าวรอบที่ 2 ทั้งประเทศจำนวน 4.54 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของปีที่ผ่านมาที่ได้กำหนดพื้นที่แผนควบคุม 11.21 ล้านไร่ ปัจจุบันภาพรวมของประเทศมีการเพาะปลูกแล้ว 6.56 ล้านไร่ จึงเกินแผนควบคุมแล้ว ร้อยละ 44 ซึ่งขณะนี้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว ร้อยละ 37 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มี.ค. 2563) สำหรับพื้นที่ปลูกเกินแผนควบคุมไปค่อนข้างมากอยู่ในเขตลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูก 3.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 21.5 โดยเฉพาะในเขตชลประทานไม่มีแผนส่งน้ำให้ปลูกข้าว แต่มีผลการเพาะปลูกถึง 2.01 ล้านไร่ ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานต้องทำงานหนักมากในปีนี้ เพื่อประคับประคองน้ำในระบบชลประทานที่มีน้อยอยู่แล้วให้สามารถส่งน้ำไปรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มและป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าทำลายพืชสวน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ร้อยละ 55 จึงได้ขอความร่วมมือไม่ให้ปลูกข้าวรอบที่ 3 ต่อเนื่องอีก
2) กล้วยไม้และไม้ผล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจเสี่ยงน้ำเค็มรุกเข้าสวนสร้างความเสียหายใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีพื้นที่เฝ้าระวัง 57,106 ไร่ แบ่งเป็น กล้วยไม้ 10,784 ไร่ และไม้ผล 46,322 ไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรโดยให้คำแนะนำติดตามข้อมูลข่าวสารน้ำเค็ม ระมัดระวังเรื่องการปิดเปิดประตูน้ำเข้าพื้นที่สวน การดูแลรักษาความชื้นในสวน ลดการคายน้ำของพืช การปรับลดการใช้ปุ๋ยเพื่อลดความเค็มที่เข้าสู่ต้นพืช การสำรองแหล่งน้ำในสวนของตนเอง รวมทั้งให้ความร่วมมือกับระบบการผลักดันน้ำเค็มของระบบชลประทาน
นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ไม้ผลที่มีฝนตกน้อยกว่า 800 มิลลิเมตร ซึ่งได้วิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม้ผลเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้เวลาปลูกนานกว่าจะให้ผลผลิต หากมีความเสี่ยงและตายจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบเสียโอกาสเรื่องรายได้ จึงได้สำรวจในพื้นที่จริงและประเมินพื้นที่ปลูกไม้ผลพื้นที่นอกเขตชลประทานใน 30 จังหวัด พบว่า จากพื้นที่ปลูก 2.66 ล้านไร่ มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำและอาจตายได้รวม 375,000 ไร่ โดยเฉพาะไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มะม่วง ลำไย ส้มโอ กล้วยหอม เงาะ ส้มเขียวหวาน มังคุด และลิ้นจี่ จึงได้ดำเนินการนำข้อมูลส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกร และให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรในการดูแลรักษาสวนไม้ผลดังกล่าว ซึ่งผลการดำเนินงานได้มีการจัดหาน้ำเข้าไปเติมแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำรวม 124,294 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 33 โดยกรมทรัพยากรน้ำ ส่วนการสร้างการรับรู้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสวนไม้ผลแก่เกษตรกร ดังนี้ การรักษาความชื้น ให้ใช้วัสดุคลุมโคนต้น คลุมแปลง และการปลูกพืชคลุมดิน ลดการคายน้ำของพืช เช่น การตัดแต่งกิ่ง การบังลม พรางแสง เป็นต้น ปรับปรุงวิธีการให้น้ำแก่พืช โดยเพิ่มประสิทธิภาพและการประหยัดน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เช่น การปรับเปลี่ยนหัวจ่ายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเวลาหลีกเลี่ยงช่วงแสงแดดจัด เพื่อลดการระเหยของน้ำ การสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่สวน เพื่อให้เกษตรกรเตรียมการแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของกรมฯ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2563 ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับกรม เขต และจังหวัด เพื่อรวบรวมและติดตามสถานการณ์ภูมิอากาศ น้ำ ผลกระทบและความเสียหายด้านการเกษตร รวมถึงจัดทำรายงานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการประเมินสถานการณ์และการจัดการความเสี่ยงภัยแล้งในปีนี้
“อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรโดยขอความร่วมมือที่จะไม่ปลูกข้าวรอบที่ 3 ต่อเนื่อง เพราะอาจขาดแคลนน้ำทำให้เกิดความเสียหายได้ ในส่วนของพื้นที่สวนใกล้แหล่งน้ำเค็มขอให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แม้ว่าปัจจุบันระบบการผลักดันน้ำเค็มยังควบคุมได้ แต่เนื่องจากน้ำมีน้อยมาก ภาครัฐต้องใช้หลายมาตรการทั้งการนำน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วย การระวังไม่ให้มีการสูญเสียน้ำระหว่างทาง ดังนั้น เกษตรกรควรต้องเพิ่มการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วยการสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองให้ได้ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ไม้ผลควรมีแหล่งน้ำสำรองเช่นกัน หรืออาจจะปรับรูปแบบกิจกรรมการเกษตรให้เหมาะสมกับช่วงฤดูแล้ง เช่น การทำเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฏีใหม่ ที่จัดการพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำในไร่นา เป็นต้น หากมีฝนตกลงมาให้หาทางเก็บกักน้ำ รักษาความชื้นให้ได้ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานอย่าเพิ่งเร่งทำการเพาะปลูก ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เมื่อมั่นใจแล้วจึงดำเนินการในฤดูกาลผลิตใหม่ต่อไป” รองอธิบดีกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit