จากกรณีปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมืองระนอง บริเวณพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง (อบจ.ระนอง) และเทศบาลเมืองระนองขอใช้ประโยชน์เดิม จากกรมป่าไม้ รวม ๓ แปลง เนื้อที่ ๔๘๔ ไร่ แต่หนังสืออนุญาตได้หมดอายุลง ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2559 และยังไม่สามารถขอต่ออายุหนังสืออนุญาตได้ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก จึงมีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองเรื่อยมา นั้น
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย และเป็นพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีที่ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นผู้รับผิดชอบแทนกรมป่าไม้ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลบางริ้นและตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เดิมเป็นพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมสภาพที่ผ่านการทำเหมืองแร่มาก่อน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ อบจ. ระนอง ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ให้นำที่ดินไปจัดให้ราษฎรเช่าอยู่อาศัย และจัดให้เป็นย่านการค้าอุตสาหกรรม เนื้อที่ ๒๔๒ ไร่ ๒ งาน และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้รับอนุญาตเพิ่มอีก ๒๒๔ ไร่ ส่วนเทศบาลเมืองระนองได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ เนื้อ ๑๗ ไร่ ๒ งาน ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุมชนเมืองเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา อบจ. ระนอง ได้พยายามขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามไม่ให้อนุญาตการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนทุกกรณี แต่ยังไม่เป็นผล เนื่องจากติดเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าปลูกป่าทดแทน ๒๐ เท่า ของพื้นที่ขอใช้ประโยชน์ ซึ่ง อบจ. ระนอง มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้
เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๑ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการในท้องที่จังหวัดระนอง พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดของราษฎรที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ ป่าชายเลนที่หมดอายุการอนุญาต จึงได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองโดยเร็ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนชุมชนเมือง จังหวัดระนอง ขึ้น โดยมีอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เป็นประธาน คณะทำงานฯ ดังกล่าว ได้มีมติ เห็นชอบให้ดำเนินการการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ และส่งมอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการบริหารจัดการตามกฎหมาย สำหรับข้อระเบียบกฎหมายที่ติดขัด ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไปหารือร่วมกับกรมธนารักษ์ ต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๓ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ประชุมหารือร่วมกับนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้เสียกว่า ๑๐๐ คน เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองหัวเขียวและป่าคลองเกาะสุย (บางส่วน) เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์นำไปบริหารจัดการตามระเบียบ และล่าสุด เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ได้ลงพื้นที่จังหวัดระนองอีกครั้งเพื่อเร่งรัดติดตามการสำรวจรังวัดและสำรวจข้อมูลผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่ง ได้เน้นย้ำและกำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ทั้งนี้ ได้รายงานให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับทราบผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวระนอง พร้อมได้สั่งการให้กรมเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวระนองให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด ตนจึงได้สั่งหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่ได้หารือ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว “ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้จะช่วยปลดล็อคการอยู่อาศัยแบบผิดกฎหมายมานานนับหลายสิบปีของพี่น้องประชาชนชาวระนองให้อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและที่สำคัญการพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ตลอดจนการลงทุนต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยท่านรัฐมนตรีและท่านปลัดกระทรวง ได้กำชับและเร่งรัดให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ชาวระนอง” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวยืนยัน