ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ 'A(tha)’ แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ

23 Mar 2020

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์
(ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด
(มหาชน) หรือ SCCC
เป็นลบ
และประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)’  รวมถึงคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ
ที่ 'A(tha)’   และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National
Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)’

แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่ในการที่ SCCC จะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินมาสู่ระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้ภายในปี
2564
จากการที่สภาวะเศรษฐกิจและตลาดที่ต้องเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ฟิทช์มองว่าการแพร่กระจายของโรคระบาดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะยังคงรุนแรงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ซึ่งจะกดดันเศรษฐกิจมหภาคของประเทศที่มีการแพร่ระบาด และทำให้กิจกรรมต่างๆ
ของภาคธุรกิจ รวมถึงการก่อสร้างลดลงในปี 2563  ฟิทช์ประเมินว่าผลกระทบต่อ SCCC น่าจะจำกัดในช่วงปี 2563 และฟื้นตัวได้ในปี 2564   อย่างไรก็ตาม การลดลงของรายได้ และ
กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCCC ในช่วงเวลาที่อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง
อาจทำให้บริษัทฯ ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปีในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับอันดับเครดิต
ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อกการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตมาอยู่ที่ระดับมีเสถียรภาพ
อยู่ที่ความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ที่จะต้านทานปัจจัยลบต่างๆ ทางธุรกิจ
และความสามารถในการรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน
(FFO
adjusted net leverage) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่า ณ สิ้นปี 2564 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความเสี่ยงต่ออัตราส่วนหนี้สิน
– ฟิทช์คาดว่า FFO adjusted net
leverage ของ
SCCC
จะอยู่ในระดับที่สูงประมาณ
2.6-3.2 เท่า ณ สิ้นปี 2563-2564 (ณ สิ้นปี 2562
อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 3.0 เท่า) โดยมีสมมติฐานว่า EBITDA ของบริษัทฯ ในปี 2563 จะลดลงประมาณร้อยละ 10 และฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ในปี
2564 อัตราส่วนหนี้สินของ
SCCC
เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี
2559
จากการเข้าซื้อกิจการต่างๆ หลายบริษัท โดยสูงสุดที่ 4.6 เท่า ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ บริษัทฯ
ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะลดอัตราส่วนหนี้สิน
ด้วยการลดค่าใช้จ่ายลงทุนและการจ่ายเงินปันผล รวมถึงมีมาตรการต่างๆ
ในการเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ฟิทช์คาดว่า SCCC จะยังไม่มีการขยายธุรกิจอย่างนัยสำคัญ
และคาดว่าบริษัทฯ จะรักษาวินัยในการใช้จ่ายเงินและการลงทุนในช่วงสองปีข้างหน้า

EBITDA ลดลงในปี 2563 – ฟิทช์ประมาณการรายได้ของ
SCCC
ลดลงในอัตราร้อยละ
4-6 ในปี 2563 ในขณะเดียวกัน
อัตราส่วน EBITDA
ต่อรายได้
(EBITDA
margin) ก็ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ
17.5 จากร้อยละ 18.5 ในปี 2562  ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2564 
การเติบโตของกิจกรรมการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 
ถึงแม้ว่าโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างน่าจะดำเนินต่อไปได้จนกว่ารัฐบาลจะมีการประกาศมาตรการปิดเมือง
หรือห้ามดำเนินกิจกรรมใดๆ อย่างจริงจัง  
ในปี 2562
รายได้จากการขายในประเทศไทยของ SCCC เติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่รายได้จากการส่งออกและธุรกิจเทรดดิ้งวัสดุก่อสร้างและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ
เติบโตสูงถึงร้อยละ 60 
ซึ่งช่วยชดเชยการลดลงของรายได้และกำไรจากธุรกิจในภูมิภาค

การกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดี

SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ระดับภูมิภาค
โดยมีการกระจายตัวของธุรกิจในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา เวียดนาม
บังคลาเทศ และกัมพูชา (ผ่านกิจการร่วมค้า)
กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ภายนอกประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36
ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งหมดของ SCCC (ไม่รวมกิจการร่วมค้าในกัมพูชา)  ในขณะที่รายได้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ
47
ของรายได้ทั้งหมดในปี 2562
การกระจายความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ของ SCCC จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดภายในประเทศเพียงตลาดเดียว
และช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดย EBITDA จากธุรกิจในภูมิภาคสามารถช่วยชดเชยผลกำไรที่ลดลงในประเทศไทยในปี
2560
ในขณะที่ธุรกิจในประเทศไทยกลับมาเป็นธุรกิจที่สร้างอัตราการเติบโตในปี 2562
ซึ่งเป็นปีที่ธุรกิจในภูมิภาคซบเซา

ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง

SCCC เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย
โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับร้อยละ 29 โดยวัดจากยอดขาย ในปี 2562 บริษัทฯ
สามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาด
และมีการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศมากขึ้นในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา
โดยอาศัยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ   ความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า นอกจากนี้ SCCC ยังมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในภูมิภาค
โดยเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 33 และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามใต้
ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 21 ในปี 2562

ผลการดำเนินงานมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน

EBITDA margin ของบริษัทฯ
มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า   
ต้นทุนเชื้อเพลิงและไฟฟ้าโดยทั่วไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินโดยเฉลี่ยในปี 2562 ลดลงจากฐานราคาที่สูงในปี 2561
ฟิทช์คาดว่าราคาถ่านหินจะคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2563 ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับบริษัทฯ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCCC มีสถานะทางธุรกิจที่ด้อยกว่าบริษัท
ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตปัจจุบัน 
'A+(tha)’  แนวโน้มเครดิตเป็นลบ)
ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เช่นเดียวกัน ในด้านขนาดของธุรกิจ
ด้วยฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจที่มากกว่า ทำให้ SCC มีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
SCCC
และได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า
SCCC
หนึ่งอันดับ
ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทมีแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
ซึ่งสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง
อันเป็นผลจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอลงและแผนการลงทุนขนาดใหญ่

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด
(มหาชน) หรือ CPALL
(อันดับเครดิตปัจจุบัน  'A(tha)’ 
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)
ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหาร
ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในระดับที่เท่ากับ SCCC  CPALL มีขนาด EBITDA ที่มากกว่า SCCC มาก และมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า
โดย CPALL
เป็นผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อของประเทศไทย  ดังนั้น CPALL จึงสามารถที่จะรองรับอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่า
SCCC
ได้ในอันดับเครดิตที่เท่ากัน

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ


  • รายได้โดยรวมลดลงร้อยละ 4-5 ในปี 2563 โดย ธุรกิจในประเทศไทย รายได้ลดลงร้อยละ 5 (ลดลงร้อยละ 20 ในช่วง 3 เดือนที่สถานการณ์โรคระบาดรุนแรง และไม่มีการเติบโตในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปี) และธุรกิจในภูมิภาค รายได้ลดลงร้อยละ 2-5
  • รายได้โดยรวมฟื้นตัว ด้วยอัตราการเติบโตของรายได้ ร้อยละ 7-8 ในปี 2564 และร้อยละ 4-5 ในปี 2565 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวของธุรกิจในทุกประเทศ
  • EBITDA margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 17.5 ในปี 2563 และฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 18-19 ในปี 2564
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนรวม 5.0 พันล้านบาท ในช่วงปี 2563 – 2565
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับร้อยละ 80-85



ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:


  • แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หาก SCCC มี FFO adjusted net leverage ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่า ภายในปี 2564 (ตามตัวเลขประมาณการ)



ปัจจัยลบ:


  • การที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการมีค่าใช้จ่ายลงทุนโดยใช้เงินกู้ในระดับสูง และการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ส่งผลให้ FFO adjusted net leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า ณ สิ้นปี 2564 (ตามตัวเลขประมาณการ)



สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นับจาก สิ้นปี 2562 จำนวน 6.2 พันล้านบาท โดยร้อยละ 44 เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นและวงเงินหมุนเวียนที่ใช้สำหรับบริหารเงินทุนหมุนเวียน สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 4.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 และความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนมาชำระหนี้ โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ และประวัติที่ดีในการเข้าถึงเงินทุนผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงิน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการขอวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินจำนวน 3.0 พันล้านบาท บริษัทฯ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยวงเงินดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ ในช่วงสามปีข้างหน้า