กระทรวงเกษตรฯ ดีเดย์เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร “โครงการจ้างแรงงานเกษตรกรทั่วประเทศ บรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง” ใน 208 โครงการของกรมชลประทาน จ้างงานได้ถึง 10,674 คน เริ่มเดือนมีนาคมนี้ จะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งจึงได้กำหนดนโยบายการช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้ กรมชลประทาน ดำเนินการตามนโยบายการช่วยเหลือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ 2563 สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ โดยจะดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ ในวงเงินงบประมาณ 3,100 ล้านบาท ซึ่งสามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลา ในการจ้าง 3 - 7 เดือน
นายอลงกรณ์กล่าว ต่อไปว่า จากนโยบายการช่วยเหลือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าว จะทำให้เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานวันละ 377 บาท หรือประมาณเดือนละ 8,000 บาท รายได้ตลอดระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท/คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ทำ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้ง โดยคาดว่าจะเริ่มโครงการจ้างแรงงานตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะจ้างแรงงานได้ประมาณ 10,674 คน โดยกรมชลประทานจะประกาศรับสมัครการจ้างแรงงานเกษตรกรทั่วประเทศ ในเขตพื้นที่โครงการชลประทานทุกโครงการรวมทั้งสิ้น 208 โครงการฯ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในพื้นที่ และเสียโอกาสจากการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน
“สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (18มี.ค.63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 39,694 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 15,972 ล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย บำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 9,581 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 2,885 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(18 มี.ค.63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 12,790 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 3,457 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ” นายอลงกรณ์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit