“เพราะน้ำไม่ได้มีเหลือเฟืออีกต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ การจะหวังพึ่งแต่น้ำฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราต้องอยู่ได้บนน้ำต้นทุนที่มี และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์”
การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่มี รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานฯ ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยมุ่งเป้าที่ลดการใช้น้ำลง 15% ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะนักวิจัยได้พาไปดูหนึ่งในพื้นที่ Sandbox การบริหารจัดการน้ำ “โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) จังหวัดกำแพงเพชร” ต้นทางของการรับน้ำจากเขื่อนภูมิพล ที่มีพื้นที่ในเขตชลประทานมากกว่า 500,000 ไร่
แน่นอนว่า เครื่องมือหนึ่งที่นำเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดการใช้น้ำให้ได้15% คือ การนำเทคโนโลยี ทั้งไอโอที และเอไอเข้ามาเป็นผู้ช่วยสำคัญ
“โครงการนี้จะเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่นำ IOT และ A เข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้เครื่องมือ IOT ติดตามระดับน้ำ 8 จุดในคลองสายหลัก และมีระบบเปิดปิดประตูน้ำอัตโนมัติ 2 จุด มีระบบตรวจวัดความชื้นภาคสนาม 120 จุด ใน 20 โซนซึ่งแบ่งกลุ่มตามคลอง มีเครื่องมือวัดความชื้นหรือวัดสถานภาพการเกษตรด้วย โดยนำผลจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ไปตรวจสอบกับเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำกับเซ็นเซอร์วัดความชื้นในดิน”
ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรมเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสม” บอกว่า ที่ผ่านมาเราขาดตัวช่วยในการประเมิน ติดตาม และจำลองสถานการณ์น้ำทำให้การสื่อสารกับเกษตรกรไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขณะที่ คบ.ท่อทองแดง ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำธรรมชาติ ทำให้มีการรั่วซึมของน้ำระหว่างทาง ฉะนั้น เป้าหมายของเราจึงเป็นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ การปฏิบัติการส่งน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็มีระบบติดตามน้ำ สามารถตรวจสอบได้ว่าในพื้นที่ 5 แสนไร่ พื้นที่ใดมีสถานภาพทางเกษตรกรรมเป็นอย่างไร
“ขณะนี้การทดลองการทำงานของระบบที่ติดตั้งแล้วค่อนข้างสมบูรณ์ และจะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายนนี้ โดยเจ้าหน้าที่สามารถติดตามสถานการณ์น้ำ และบริหารจัดการน้ำ ผ่านหน้าจอปฏิบัติการ และผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์”
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นของการทำวิจัย ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ บอกว่า เป็นการมุ่งพัฒนาเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ชลประทานในการบริหารจัดการน้ำ แต่ต่อจากนี้จะมีปรับระบบการปฏิบัติการเพื่อให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย เช่น การเช็คค่าความชื้นของดินบนพื้นที่แปลงเกษตรของตนเอง เพื่อสามารถปรับลดการใช้น้ำได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดประสงค์ของโครงการฯ คือ ลดการใช้น้ำลง 15% แต่ทว่า การจะให้กลุ่มผู้ใช้น้ำก้าวไปให้ถึงเป้าหมายได้ จะต้องยังคงมีรายได้ด้วย ไม่เพียงการเปลี่ยนมุมคิดจากการถือประโยชน์ส่วนตน “ฉันต้องได้น้ำ” เป็นตระหนักใน ”คุณค่า” ของน้ำ รู้จักบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รู้จักการแบ่งปันในกลุ่มผู้ร่วมสายน้ำ เหนืออื่นใดคือ ต้องรู้จักวางแผนปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีพของตนอย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติใหม่
ด้วยขอบข่ายของภารกิจเช่นนี้ ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม บอกว่า การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ โดยเริ่มจากการจัดอบรม Zone Man หรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำโดยตรง ให้เห็นระบบเชิงโครงสร้างทั้งหมด และเห็นถึงความสัมพันธ์ของคนที่ครบองค์ประกอบ จากนั้นจึงคัดเลือกตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำจากพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 10 ตำบลนำร่องในอำเภอไทรงาม
“เพื่อให้เห็นกระบวนการส่งน้ำกระจายไปอย่างไร เราใช้เครื่องมือที่เป็นกระบวนการพัฒนาให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยเริ่มจากให้ชาวบ้านเขียนแผนที่เส้นทางน้ำ ทำปฏิทินการผลิต เก็บข้อมูลจากพื้นที่ตำบลตนเอง”
ชิษนุวัฒน์ บอกว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยในโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรม เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสม” พบว่า เกษตรกรไม่ใช่คนรุ่นเก่า พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง สิ่งสำคัญคือ เราต้องแปลงภาษาวิชาการ แปลงเทคโนโลยีไปสู่ความเข้าใจ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงให้กับชาวบ้าน
“การจะทำให้คนในพื้นที่เข้าใจคุณค่าของการใช้น้ำ รู้จักกลไกรูปแบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ บวกกับเทคโนโลยี ด้วยวิธีการอบรมเชิงปฎิบัติการ หลักสูตร “Training”การจัดการน้ำ อย่างมีส่วนร่วม ก่อเกิดวิธีคิดแบบใหม่ ให้ใช้ข้อมูลความรู้ในการตัดสินใจ เพื่อให้รู้จักการวางแผนอย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย”
ยกตัวอย่างเช่นการฝึกให้เกษตรกรเห็นประโยชน์จากการวัดค่าความชื้นในดินโดยใช้กระบวนการพื้นฐาน เป็นการเตรียมความเข้าใจและเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีของ ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ที่พัฒนาขึ้นเป็นกระบวนการที่เราพยายามแปลงข้อมูล “จากห้องแล็บสู่ท้องทุ่ง” ทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันได้ เพราะเมื่อเกษตรกรเข้าใจและยอมรับ นั่นหมายความว่างานวิจัยจะเดินหน้าสู่การใช้จริง
ทางด้านตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจาก ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร หนึ่งใน 10 พื้นที่นำร่อง ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ แต่ได้ใช้ประโยชน์จากระบบชลประทานค่อนข้างน้อย เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน ณรงค์ ขาวทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 บอกว่า ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดทำแผนที่เส้นทางน้ำ ไม่รู้ว่าคลองมีประโยชน์อย่างไร พื้นที่ของเราเหมาะแก่การปลูกพืชชนิดไหน จนได้เห็นว่าปัจจุบันน้ำไม่ได้มีมากเหมือนปีที่ผ่านมา
“ในชีวิตผมใช้น้ำจาก คบ.ท่อทองแดงมา 50 กว่าปี ไม่เคยแล้งเท่านี้มาก่อน ปีนี้มีหน่วยงานเข้ามาช่วย ทำให้ผู้ใช้น้ำทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำและปลายน้ำได้รู้จักกัน และร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำ ผมจะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปบอกชาวบ้านให้เตรียมตัวรับมือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกมะนาว เราเคยคุยกันว่าปีนี้น้ำเขื่อนไม่ปล่อยมา เรามีน้ำบ่อใต้ดิน แต่ถ้าปีหน้าถ้าน้ำใต้ดินแห้ง เราคงต้องยอมเสียพื้นที่คนละ 5 ไร่ขุดเป็นสระ ไม่เช่นนั้นเราจะไม่รอด”
ขณะที่ สุวิทย์ เทพภักดี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 มองถึงก้าวต่อไปว่า การบริหารจัดการน้ำเราต้องรู้ว่าในตำบลของเราต้องการใช้น้ำเท่าไหร่ เราต้องศึกษาว่าพืชชนิดไหนต้องใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน ความชื้นในดินเป็นสิ่งสำคัญที่เราจำเป็นต้องรู้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ในตำบลยังขาดข้อมูลในส่วนนี้ ถ้าเรารู้ความต้องการใช้น้ำจะช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น
ฟากคนปลายน้ำ ที่ตำบลหนองไม้กอง อำเภอไทรงาม สุชาติ กาละภักดี เลขากลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลหนองไม้กอง บอกว่า การเข้ารับการอบรมนอกจากช่วยสร้างภาคีเครือข่ายผู้ใช้น้ำแล้ว ยังทราบสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ หลายคนมีการปรับเปลี่ยนไปทำตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หันไปปลูกไม้ยืนต้น เรียนรู้ว่าพืชชนิดใดต้องการน้ำมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งจากการที่มีนักวิชาการเข้ามาให้ความรู้อยู่เรื่อยๆ และเกษตรกรทดลองลงมือทำเอง
เลขาฯ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ยังเสนอถึงการวางระบบการผลิตใหม่จากการพูดคุยกันในกลุ่มผู้ใช้น้ำว่า “ถ้าเราเปลี่ยนช่วงเวลาของการรับน้ำจากที่เคยรับน้ำตั้งแต่พฤศจิกายนถึงเมษายน เหลือแค่ 3 เดือน คือ กุมภาพันธ์ถึงเมษายน แล้วใช้น้ำจากธรรมชาติช่วย เราจะทำนาได้ 2 ครั้ง โดยช่วงพฤศจิกายนถึงมกราคมเปลี่ยนไปปลูกพืชผัก จะสามารถลดการใช้น้ำไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง”
จากนักวิจัย และ เกษตรกรผู้ใช้น้ำ มาฟังทัศนะจากฝ่ายปฏิบัติการตัวจริง สุทธิชัย ไพรสันต์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง สำนักงานชลประทานที่ 4 จังหวัดกำแพงเพชร บอกว่า “ปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ IOT หรือเทคโนโลยีอัจฉริยะในการบริหารจัดการน้ำจากงานวิจัยนี้ ทำให้การจัดการง่ายขึ้น สามารถควบคุมสั่งการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นการลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และสามารถติดตามเส้นทางน้ำผ่านหน้าจอปฏิบัติการหรือทางโมบายแอพพลิเคชั่นอยู่ที่ไหนก็ตรวจสอบได้ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ใดขาดน้ำจริงแค่ไหนจะได้ช่วยได้เร็วขึ้น
ประกอบกับการอบรมกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน จะเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ชลประทานได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรเข้าใจสถานการณ์น้ำและสามารถประเมินความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ตนเองได้ ทำให้การพูดคุยประสานงานราบรื่นขึ้น หากโมเดลนี้สำเร็จเรียบร้อย จะเป็นประโยชน์ต่อ คบ.ท่อทองแดงมากช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit