ผศ.ดร.สุขชัย เจริญไวยเจตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบการจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์” เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยท้าทายไทย กลุ่มเรื่อง นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ (ปีที่ 2) สนับสนุนโดย หน่วยจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวเป็นการยกระดับรายได้ชุมชนใน ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยใช้องค์ความรู้นักวิจัยมหาลัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาพื้นที่และยกระดับรายได้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เนื่องจากจังหวัดกาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว ประมาณ 50,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่ามีรายได้ต่อหัวน้อยเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ประกอบกับทางจังหวัดมี “โครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนสโมเดล”ทางมหาวิทยาลัยจึงให้นักวิจัยลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายจังหวัด โดยเลือก ต.กุดหว้า เป็นพื้นที่เป้าหมาย
ทั้งนี้ชุดโครงการวิจัยดังกล่าว มีโครงการย่อยทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการยกระดับเศรษฐกิจและขีดความสามารถของชุมชนผลิตภัณฑ์จากไผ่ โดยเน้นกติกาการใช้พื้นที่ป่าชุมชน แผนที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นป่าไผ่ หลักสูตรการทำมาลัยไม้ไผ่ เครื่องอบไม้ไผ่ เครื่องพ่นเคลือบมาลัยไม้ไผ่ เครื่องอบมาลัยไม้ไผ่ Land mark ที่เป็นอัตลักษณ์ และแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ไม่ไผ้ 2.โครงการยกระดับเศรษฐกิจและขีดความสามารถของชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้า เป็นการวิเคราะห์ต้นทุน ช่องทางการตลาด ลายผ้าทอมือที่เป็นอัตลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ รวมถึงแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผ้าเพื่อนำไปสู่การยกระดับผ้าภูไท และ 3.โครงการพัฒนากลไกการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน จากฐานทุนของชุมชนที่มีชื่อเสียงในเรื่องบุญบั้งไฟตะไลล้าน ซึ่งความโดดเด่นของบั้งไฟ ที่ ต.กุดหว้า จ.กาฬสินธุ์ แตกต่างจากพื้นที่อื่นคือ บั้งไฟ หรือ ตะไล ที่นี่จะจุดจากกลางลำ โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนขึ้นท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว จากจารีตประเพณีดังกล่าวนำไปสู่งานวิจัยที่เน้นเส้นทางการท่องเที่ยว 16 เส้นทาง มัคคุเทศก์ชุมชน โฮมสเตย์ที่ขอยื่นมาตรฐาน 12 หลัง ตำหรับอาหารคาว-หวานท้องถิ่น และแผนพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
“เรื่องผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ปัญหาในเรื่องการขาดทายาทสืบทอดในเรื่องการทำมาลัยไม้ไผ่ ซึ่งเป็นมาลัยที่ใช้ถวายเป็นพุทธบูชา ในงานประเพณีบุญข้าวประดับดิน นักวิจัยจึงแก้ปัญหาด้วยการคิดหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน โดยมีผู้สนใจเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ต่อมาคือปัญหาการจัดการไม้ไผ่ไร่ซึ่งอยู่ในป่าชุมชน โดยมีการวางกฎกติกาการคัดไม้ไผ่ไร่ มีข้อตกลงร่วมกัน เพราะไม้ไผ่ที่นำมาใช้ทำมาลัยไม้ไผ่นำมาจากป่าชุมชนนั่นเอง ส่วนเรื่องผ้าไหมภูไท มีการทำวิจัยโดยนักวิจัยและชาวบ้านร่วมกันออกแบบเพื่อให้ได้ลวดลายใหม่ๆกว่า 10 ลายการยกระดับผ้าจาก 3 ดาวมาเป็น 4 ดาว รวมทั้งมีการทำการตลาดเพื่อหาช่องทางการจำหน่ายด้วย ส่วนเรื่องท่องเที่ยวเป็นการยกระดับมาตรฐานโฮมเสตย์ มีการขอมาตรฐานโฮมเสตย์ 12 หลัง เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวของชุมชนที่มีมาตรฐานในระดับสากล”
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุขชัย ยังกล่าวอีกว่า การต่อยอดงานวิจัยในอนาคตนอกจากการการใช้ "ถนนคนเดิน วิถีผู้ไท กุดหว้า” ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานวิจัยแล้ว ทางมหาวิทยาลัยมีแนวทางในการทำงานร่วมกับทางจังหวัดในการยกระดับงานวิจัยเพื่อให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์จังหวัดด้วย
“ทุกโครงการสามารถต่อยอดไปได้อีก ที่ผ่านมาเราทดลองตลาดโดยใช้ถนนคนเดินซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีแนวทางในการขยายตลาดและการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดเพราะการพัฒนาจังหวัดและงานวิจัยต้องควบคู่ไปด้วยกัน นักวิจัยสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่ชุมชนต้องการ ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกทำงาน พบว่า มีโจทย์ปัญหามากมายที่ยังต้องการให้ผู้ที่มีนวัตกรรมเข้าไปยกระดับความยากจน ยกระดับรายได้ชุมชน สร้างเศรษฐกิจของจังหวัดให้ยั่งยืน เชื่อว่างานวิจัยเหล่านี้จะนำไปสู่มาตรการในการแก้ไขปัญหาของจังหวัด”
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.สุขชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ผ่านโจทย์ปัญหาของชุมชน ถือเป็นความท้าทายที่นอกจากนักวิจัยจะต้อง “เข้าใจอัตลักษณ์และบริบทชุมชน” อย่างแท้จริงแล้ว นักวิจัยยังต้องศึกษาถึงรายละเอียดเพิ่มเติมโดยเฉพาะกระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงานของแต่ละพื้นที่ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อนำไปสู่การต่อยอดทั้งเรื่องการตลาด กลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ และการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit