โดย รศ.ดร.สัญญา กล่าวว่า โครงการทะเลไทยไร้ขยะเป็นโครงการที่วช. ให้ทุนสนับสนุน มีการรวบรวมนักวิจัยจากหลายหน่วยงานร่วมสร้างงานวิจัยตอบโจทย์ให้ทะเลไทยไร้ขยะ โดยการลงพื้นที่ 14 พื้นที่ชายฝั่ง มีภารกิจหลัก 5 ส่วน ดังนี้ 1. การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.การจัดการขยะบนพื้นฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการนำขยะเหลือใช้มาหมุนเวียนสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะ 3. การกำจัดขยะทะเลอย่างมีระบบ มีการลงพื้นที่ให้ชาวบ้านช่วยกัน มีการสร้างสิ่งประดิษฐ์ในการเก็บขยะในทะเล 4.การสร้างมูลค่าขยะพลาสติก และ 5. การลดการตกค้างไมโครพลาสติก
ด้านรศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ขยะที่อยู่ในทะเลมาจากขยะที่เราทิ้งลงในแหล่งน้ำ จึงมีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้เก็บขยะตามชายฝั่งทะเล คือรถเก็บขยะตามพื้นผิวชายหาด โดยจะเก็บดึงขยะจากทรายเพื่อนำมากำจัด ทำให้ประหยัดเวลา และกำลังคน มีต้นทุนประมาณ 2-3 แสนบาท ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนาต่อไป คาดว่าจะเก็บขยะที่ฝังลึกในทรายได้ นอกจากนี้ยังมีเรือเก็บขยะ โดยใช้ระบบรีโมทควบคุมการเก็บขยะในทะเลโดยไม่ต้องใช้คน มีการทดสอบในพื้นที่ทะเลจริง สามารถทดต่อคลื่นลมได้จริง เก็บขยะไกล ๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเครื่องจะหายไป เพราะมีระบบควบคุม
ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้าร่วมโครงการนี้เป็นครั้งแรก จึงต้องหาพื้นที่ในการทำวิจัย โดยเลือกพื้นที่ทางชายฝั่งภาคตะวันออก พบว่ามีคำถามจากคนในพื้นที่คือ เขามีการจัดการเก็บขยะอยู่แล้ว แต่ขยะที่เก็บแล้วจะเอาไปทำอะไร โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งตนถูกสอนมาตลอดชีวิตว่าพลาสติกสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องมีการคัดแยกที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ขยะพลาสติกทุกชนิดมีมูลค่าทั้งหมด
ด้าน รศ.ดร.สุชนา กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมทางสังคม ปัจจุบันเราเข้าใจและเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับขยะทะเล แต่จะทำอย่างไรที่จะปฏิบัติ และอนุรักษ์ทะเลได้จริง จึงต้องมีการสร้างบุคคลต้นแบบ ที่จะต้องมีจิตสำนึก เปลี่ยนพฤติกรรม สามารถสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่นได้ จึงสร้างแสมสารโมเดลเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการกำจัดขยะ รวมถึงสอนชาวบ้านในพื้นที่แยกขยะ สอนพฤติกรรมการใช้พลาสติก จนทำให้เห็นว่าบุคคลต้นแบบสามารถชักจูงชาวบ้านให้ร่วมกันคัดแยกขยะได้มากขึ้น