จากความร่วมมือของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ขอแนะนำข้อต้องระวังหากจะใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์รักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (LPV/r) เป็นยาต้านไวรัส ที่ได้รับรองให้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 ใช้ร่วมกับยาต้านเอชไอวีอีก 1-2 ชนิดในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลงเนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก ที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้คือ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผื่น ไขมันในเลือดสูง และมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้การรับประทานในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะไตวายเรื้อรัง
มีหลักฐานว่า LPV/r มีฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์สในหลอดทดลอง และมีข้อมูลในสัตว์ทดลองว่าใช้รักษาลิงที่เป็นโรคซาร์สได้ผล ทั้งมีการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยที่เป็นโรคซาร์สแบบรุนแรงพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ LPV/r ตั้งแต่แรกมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยาหรือได้ยาช้า เนื่องจากข้อจำกัดของกระบวนการศึกษาวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า LPV/r ได้ผลในรักษาการติดเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขณะนี้กำลังมีการทำการศึกษาในประเทศจีนประมาณว่าจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ LPV/r ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในอีกประมาณ 6 เดือน
ถ้าจะมีการนำยานี้มาใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สิ่งที่แพทย์ ผู้ป่วยและญาติต้องทราบและพึงระวังคือ
การให้ LPV/r ร่วมกับซิมวาสแตติน ทำให้ระดับยาซิมวาสแตตินสูงขึ้น เกิดภาวะการสลายตัวของกล้ามเนื้อลาย อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ พบเอนไซม์กล้ามเนื้อสูง อาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ส่วนการให้ LPV/r ร่วมกับยากลุ่มเออร์กอต ทำให้ระดับยากลุ่มเออร์กอตสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดส่วนปลาย เช่น แขนหรือขา หดตัวอย่างรุนแรง เกิดภาวะการขาดเลือดปลายนิ้วมือเท้าเขียวคล้ำเนื้อเน่าตาย จนอาจต้องตัดนิ้วหรือถึงแก่กรรม ถ้าเป็นที่สมองทำให้ชักหรืออัมพาตหรือไม่รู้สึกตัวได้
ฉะนั้นหากจะมีการใช้ LPV/r เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แพทย์ ผู้ป่วยและญาติต้องรับทราบและมีความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit