พลาสติกไม่ถูกทอดทิ้ง! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. ประดิษฐ์ “คูล ทู ทัช” แพคเกจจิ้งจากพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้เร็วสุด 2 เดือน ลดภาวะโลกร้อน ขยะล้นโลก!

03 Feb 2020
- โชว์ประสิทธิภาพ ทนความร้อนถึง 200 องศาเซลเซียส อุ่นไมโครเวฟได้
พลาสติกไม่ถูกทอดทิ้ง! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. ประดิษฐ์ “คูล ทู ทัช” แพคเกจจิ้งจากพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้เร็วสุด 2 เดือน ลดภาวะโลกร้อน ขยะล้นโลก!

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โชว์นวัตกรรมรักษ์โลก "คูล ทู ทัช" (Cool to Touch) แพคเกจจิ้งจากพลาสติกชีวภาพต้นทุนการผลิตต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทนร้อนไมโครเวฟถึง 200 องศา ย่อยสลายทางชีวภาพใน 2 เดือน รับกระแสลดการใช้แพคเกจจิ้งพลาสติกและลดขั้นตอนการกำจัดขยะ โดยกระบวนการประดิษฐ์ด้วยวัตถุดิบทางการเกษตร จากพอลิแลคติคแอซิด (PLA) กับพอลิบิวทีลีนซัคซิเนต (PBS) และเส้นใยจากไม้ยูคาลิปตัส ไผ่ หรือชานอ้อย ทั้งนี้ สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจาก Patent Office of Cooperation Council for the Arab States of the Gulf ในเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ (SIIF 2019) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โดยที่ล่าสุด ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต

ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เฟซบุ๊กแฟนเพจwww.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือSCI-TU เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการนำโฟมมาใช้งานหลากหลายและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ถ้วยกาแฟ การใส่อาหาร เพราะกระบวนการผลิตโฟมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกทั้งโฟมยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นอย่างมาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ จึงได้พัฒนาแพกเกจจิ้งรักษ์โลก "คูล ทู ทัช" (Cool to Touch) โฟมถ้วยและฝาปิดเครื่องดื่มร้อนจากพลาสติกชีวภาพ ต้นทุนการผลิตต่ำ มาพร้อมความสามารถในการทนร้อนไมโครเวฟได้ถึง 180 องศาเซลเซียส และย่อยสลายได้ใน 2 เดือน รับกระแสลดการใช้แพคเกจจิ้งจากพลาสติก และลดขั้นตอนการกำจัดขยะ

ผศ.ดร.ชิราวุฒิ กล่าวต่อว่า สำหรับ "คูล ทู ทัช" เกิดจากการผสมวัตถุดิบทางการเกษตร ระหว่าง พอลิแลคติคแอซิด (Polylactic acid: PLA) กับพอลิบิวทีลีนซัคซิเนต (Polybutylene succinate: PBS) เพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น เหมาะกับการใช้งานเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่เครื่องดื่มร้อน และผสมเส้นใยจากไม้ยูคาลิปตัส ไผ่ หรือชานอ้อย ทำให้มีน้ำหนักเบา ขึ้นรูปได้ง่าย และความสามารถในการทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -18 ถึง 180 องศาเซลเซียส หรือนำไปอุ่นในไมโครเวฟได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังมาพร้อมคุณสมบัติย่อยสลายได้ทางชีวภาพด้วยการฝังกลบตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ดี สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว มีต้นทุนการผลิตไม่เกิน 5บาท ซึ่งมีราคาค่อนข้างถูก อีกทั้งมีคุณสมบัติดีกว่าการใช้โฟม ซึ่งเมื่อนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจะเกิดการเสียรูปหรือละลายได้ จนเกิดสารที่เป็นอันตรายมาจากภาชนะโฟม ทำให้เกิดสารเกิดการปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้น "คูล ทู ทัช" (Cool to Touch) จึงนับเป็นทางเลือกใหม่แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในอนาคต

ทั้งนี้ แพกเกจจิ้งดังกล่าว เป็นผลงานการวิจัยของ นางสาวสุวรา วรวงศากุล นักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีวัสดุ โดยมี ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยนวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจาก Patent Office of Cooperation Council for the Arab States of the Gulf ในเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ (Seoul International Invention Fair 2019: SIIF 2019) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้รับการจดอนุสิทธิบัตร และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต

ด้าน ผศ. ดร. ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือ SCI-TU กล่าวเสริมว่า แพกเกจจิ้ง"คูล ทู ทัช" (Cool to Touch) นับเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่สะท้อนถึงศักยภาพของคณาจารย์นักวิจัย รวมถึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่กล้าคิด กล้าพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมตอกย้ำนโยบายของ SCI-TU ที่มุ่งผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์คุณภาพ ผ่านการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์โลก

อย่างไรก็ดี สำหรับแพกเกจจิ้งดังกล่าว สามารถนำไปต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร เพราะด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูก ประสิทธิภาพการทนความร้อนได้สูง มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และที่สำคัญเป็นแพกเกจจิ้งที่เป็นมิตรเป็นสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยลดปัญหาขยะในปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น เมื่อปี 2562 ประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่มีปริมาณสูงโดยเฉลี่ย 27 ล้านตันต่อปี หนึ่งในปัญหาของขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากการใช้แพกเกจจิ้งจากโฟม ประกอบกับ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ ใช้แพกเกจจิ้งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ประมาณ 560 ล้านชิ้นต่อปี ดังนั้น เชื่อว่าผลงานดังกล่าว จะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารได้ในอนาคต ผศ. ดร. ณัฐธนนท์ กล่าวสรุป

ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เฟซบุ๊กแฟนเพจwww.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

HTML::image( HTML::image( HTML::image(