สจด. เปิดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ คว้ารางวัลงานวันนักประดิษฐ์ 2563

14 Feb 2020
จบไปแล้วสำหรับการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ที่ปีนี้มีผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์จากนักเรียน นักศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา รวมถึงนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ
สจด. เปิดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ คว้ารางวัลงานวันนักประดิษฐ์ 2563

ที่ร่วมส่งผลงานเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้โครงการ "Thailand New Gen Inventors Award 2020" (I-New Gen Award 2020) สร้าง "เยาวชนผู้เปลี่ยนอนาคต : Youth as Future Changer" เปิดรับผลงานทั้งในกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ และกลุ่มการท่องเที่ยว ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับอุดมศึกษา กลุ่มการท่องเที่ยว พร้อมเงินรางวัล 70,000 บาท มาครองได้สำเร็จ จากผลงาน "ระบบแสงเล่าเรื่องสำหรับงานนิทรรศการ" (Story-Telling using Visible Light System for Exhibition) โดยนายกชพัฒน์ เล็กสาลี นายกฤตเมธ เหล่างาม และนายปกรณ์ อุตตโมบล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.ปรีชา กอเจริญ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และดร.คทา จารุวงศ์รังสี นักวิจัยหน่วยวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)

สำหรับการทำงานของระบบแสงเล่าเรื่องสำหรับงานนิทรรศการ นักศึกษาเจ้าของผลงานอธิบายจุดเริ่มต้นและหลักการทำงานให้ฟังว่า การนำเสนอผลงานนิทรรศการที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วเป็นการนำเสนอข้อมูลผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด แผ่นป้ายปิดประกาศ หรือการนำเสนอแบบเสียงเล่าเรื่อง หากสังเกตจะพบว่าการจัดนิทรรศการจะมีแสงสว่างประกอบอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งแหล่งกำเนิดแสงนั้นมาจากหลอดไฟ LED จากการศึกษาพบว่าหลอดไฟ LED มีช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 375 nm - 780 nm โดยที่ดวงตามนุษย์ไม่สามารถจับการกระพริบได้

แต่จะเห็นเพียงแสงที่ส่องสว่างเท่านั้น ทางทีมงานจึงเล็งเห็นประโยชน์จากความถี่กระพริบดังกล่าวในการนำมาเป็นช่องทางการส่งสัญญาณข้อมูล หากมองในภาพรวม คือ หลอดไฟ LED สามารถให้ความสว่างและส่งสัญญาณได้ในเวลาเดียวกัน หลักการทำงานพื้นฐาน คือ การควบคุมให้แหล่งกำเนิดแสงทำการเปิดปิดตามจังหวะของข้อมูลดิจิทัลที่ป้อนเข้าสู่ระบบ ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การใส่ชุดตัวเลขฐาน 2 128 บิต หรือที่เรียกว่า รหัส ลงในตัวส่งข้อมูลผ่านแสง เช่น ข้อมูลชุด A รหัสตัวเลขที่ใส่ลงในวงจรจะเป็น 0100...01000001 หรือ ข้อมูลชุด B รหัสตัวเลขที่ใส่ลงในวงจรจะเป็น 0100...01000010 เป็นต้น และตัวส่งข้อมูลมีหน้าที่แปลงรหัสตัวเลขเป็นการกระพริบของแสง ถัดมาคือตัวรับสัญญาณรหัส ส่วนแรกเป็นการสร้างแอพพลิเคชันเฉพาะและติดตั้งใน Smart Phone สำหรับใส่ข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ สามารถแบ่งเนื้อหาเป็นข้อมูลชุด A, B หรือ C ตามความต้องการ และเครื่องรับสัญญาณ (Dongle) ที่เสียบเข้ากับตัว Smart Phone ใช้ในการส่งรหัสสัญญาณที่รับไปยังแอพพลิเคชันเพื่อเข้าถึงข้อมูลในแอพพลิเคชันที่ติดตั้งไว้ เช่น ภาพ เสียง และวีดีโอ เป็นต้น เช่น เมื่อไปยืนบริเวณนิทรรศการที่สนใจ แสงไฟที่ส่องลงมาจากด้านบนจะส่งรหัสการเข้าถึงข้อมูลมายังตัวรับและตัวรับจะแปลงรหัสไปยังไฟล์ข้อมูลที่ตั้งค่ารหัสนั้น ๆ ไว้ โดยผลงานชิ้นนี้จัดทำตามมาตรฐาน CP-1223 ว่าด้วยการส่งรหัสระบุตัวตนหรือข้อมูลสำหรับอุปกรณ์ด้านมัลติมีเดียด้วยแสงที่มองเห็น ออกโดย Japan Electronics and Information Technology Industries Association ประเทศญี่ปุ่น นอกจากแสดงถึงความสร้างสรรค์และการใช้อุปกรณ์รอบตัวให้มีประโยชน์แล้ว ยังเป็นการสร้างความหลากหลายทางเทคโนโลยีในการนำเสนอผลงานนิทรรศการในอนาคตอีกด้วย

นอกจากผลงานของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากงานดังกล่าวแล้ว ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของอาจารย์ ยังสามารถคว้ารางวัลประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 100,000 บาท จากผลงานเรื่อง "เครื่องตรวจวัดประสิทธิภาพมอเตอร์เหนี่ยวนำแบบ 3 เฟส โดยไม่รบกวนการทำงานแบบพกพา" ภายใต้การทำงานร่วมกันของ รศ.ดร.ปรีชา กอเจริญ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผศ.เพชร นันทิวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีดิจิทัล สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และรศ.ดร.กีรติ ชยะกุลคีรี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำหรับผลงานดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ประเมินการใช้พลังงานของมอเตอร์ในภาคอุตสาหกรรม ช่วยในการบอกประสิทธิภาพการทำงานของมอเตอร์ หากตรวจพบว่ามอเตอร์มีประสิทธิภาพการทำงานต่ำจะช่วยให้ทางโรงงานอุตสาหกรรมตัดสินใจเปลี่ยนมอเตอร์ใหม่ ส่งผลต่อการลดใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมและภาพรวมของประเทศ คณะทีมงานได้อธิบายถึงชุดอุปกรณ์ตรวจวัดว่าเป็นเครื่องตรวจวัดการทำงานมอเตอร์ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้งานได้จริงเครื่องแรกของประเทศไทย มีระบบอัลกอริทึมที่แตกต่างจากเครื่องมือตรวจวัดชั้นนำที่มีขายอยู่ในท้องตลาด และระบบซอฟแวร์ได้ดำเนินการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลักการทำงาน คือ นำเครื่องตรวจวัดไปติดตั้งกับมอเตอร์เหนี่ยวนำแบบสามเฟสขณะทำงานจริงเพื่อตรวจวัดค่าทางไฟฟ้า คือ ค่าแรงดัน ค่ากระแส กำลังไฟฟ้าจริงและความเร็วรอบมอเตอร์ จากนั้นค่าที่วัดได้จะถูกนำไปประมวลผลในโปรแกรม AI ที่พัฒนาขึ้น จะทำให้ทราบว่ามอเตอร์มีประสิทธิภาพการทำงานอยู่ในระดับใด ข้อดีของอุปกรณ์ชุดนี้คือช่วยในการตรวจวัดแบบพื้นฐานโดยไม่ต้องหยุดการทำงานมอเตอร์ ช่วยวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการเปลี่ยนมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงได้ อีกทั้งซอฟแวร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของมอเตอร์ลักษณะตามมาตรฐานได้ มีความแม่นยำมากพอและมีประโยชน์ต่อการจัดทำมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของมอเตอร์ในอนาคต

สจด. เปิดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ คว้ารางวัลงานวันนักประดิษฐ์ 2563 สจด. เปิดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ คว้ารางวัลงานวันนักประดิษฐ์ 2563 สจด. เปิดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ คว้ารางวัลงานวันนักประดิษฐ์ 2563