ศ.ศ.ป. ปลื้มสุดยอดฝีมือผู้อนุรักษ์หัตถกรรมที่ใกล้สูญ ปี 2563 คนชื่นชมผลงานที่หาชมยากใน “งานอัตลักษณ์แห่งสยาม”

12 Feb 2020
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ปลื้มนำผลงานบุคคลแห่งปีภายใต้โครงการเชิดชูผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2563 ที่ได้รับการเชิดชูเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" 29 ท่าน จัดแสดงสู่สายตาผู้มาชมภายใน "งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11" ตอกย้ำอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย ให้คงอยู่สืบไป
ศ.ศ.ป. ปลื้มสุดยอดฝีมือผู้อนุรักษ์หัตถกรรมที่ใกล้สูญ ปี 2563 คนชื่นชมผลงานที่หาชมยากใน “งานอัตลักษณ์แห่งสยาม”

นางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภาพรวมตลอดของการจัดงานทั้ง 4 วัน ภายในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11 นั้น ได้มีประชาชนทั่วไป ผู้ที่รักงานศิลปหัตถกรรม ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาที่สนใจในงานศิลปหัตถกรรม ให้ความสนฝใจได้เข้ามาร่วมชมสุดยอดผลงานของบุคคลแห่งปีที่ได้รับการเชิดชูเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2563 ทั้ง 29 ท่าน ที่นำมาจัดแสดง และการสาธิตถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทั้งได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจากร้านจำหน่ายกว่า 200 ร้านค้า เป็นจำนวนมาก

สำหรับ บุคคลที่ SACICT เชิดชูเป็น "ครูศิลป์ของแผ่นดิน" "ครูช่างศิลปหัตถกรรม" และ"ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม" ประจำปี 2563 นี้ มีจำนวน 29 ท่าน และทั้ง 29 ท่านนี้คงจะกล่าวได้ว่าเป็นสุดยอดฝีมือแห่งวงการงานศิลปหัตถกรรมจริงๆ เพราะนอกจากท่านจะเป็นผู้มีทักษะฝีมือ และผู้ที่เปี่ยมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่สะท้อนผ่านผลงานอันทรงคุณค่า งดงาม น่าประทับใจ ที่เป็นที่สุดของงานแขนงนั้นๆ จริงๆ แล้ว ยังเป็นผู้ที่อนุรักษ์สืบสาน หรือบางท่านมีการฟื้นฟูงานหัตถกรรมที่ใกล้จะสูญหายให้ได้กลับมามีลมหายใจต่อไปได้อีกซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และนี่เป็นบทบาทความสำคัญ ที่ในปีนี้ SACICT ให้ความสำคัญกับบุคคลที่เป็นผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมในประเภทที่มีแนวโน้ม ใกล้จะสูญหาย หรือเหลือผู้ทำน้อยราย หรืองานบางประเภทแทบจะไม่มีใครรู้จัก หรือพบเห็น และหากไม่มีการรักษาสืบสานไว้ ก็คงจะสูญหายไปในที่สุด ตัวอย่างผลงานที่สำคัญ เช่น การทำ "ประทุนเกวียนโบราณ" ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ปัจจุบันการใช้ประทุนเกวียนในวิถีชีวิตแทบไม่มีให้เห็นจนใกล้จะสูญหายคนรุ่นหลังก็แทบไม่รู้จักแล้ว ยังคงเหลือ ครูเหลื่อม สิงห์ชัย ผู้ที่สืบสานการทำประทุนเกวียนอยู่เพียงรายเดียวอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ หรือครูสมทรัพย์ ศรีสุวรรณ หรือสล่าแดง ผู้ที่สืบทอดฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น "การปั้นน้ำต้นแบบโบราณ" ที่นับวันจะหายไปจากวิถีชีวิตของคนล้านนาให้กลับมามีลมหายใจคู่บ้านน้ำต้น และชาวล้านนามาจนถึงในปัจจุบัน หรือการทำงาน "กุบละแอ" หมวกโบราณของชาวล้านนา ที่ใกล้จะสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยแล้ว แต่ยังมีครูแสวง ศิริ ที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำ "กุบละแอ" คงอยู่ในปัจจุบันโดยที่ยังไม่สูญหายไปจากชาวล้านนา หรือการทำงาน "กระจกเกรียบ" ที่เคยสูญหายไปจากประเทศไทย แต่กลับมีผู้ที่ฟื้นฟู อย่างครูรชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจกที่คงเหลือเพียงคนเดียวในประเทศไทย ที่ทุ่มแรงกาย แรงใจ เพื่อทำให้ งานกระจกเกรียบโบราณหลากสีที่เลือนหายไปแล้วกลับมามีลมหายใจเติมเต็มคุณค่างานประณีตศิลป์ไทยอย่างสง่างามขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีคนรุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญงานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย กลับกลายเป็นผู้สืบสานรักษาให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษดำรงคงอยู่ อย่าง "หลูบเงิน" เป็นงานที่หายากและไม่เป็นที่รู้จักของคนในปัจจุบัน แต่กับมีคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง ธีร์ธวัช แก้วอุด สืบสานไว้จนถึงปัจจุบัน หรือสาวน้อยผู้ที่เกิดและเติบโตมาในชุมชนบ้านห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน สืบสานการทอผ้าขนแกะ งานหัตถกรรมที่เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนไทยบนดอยสูง และยังคงสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้ ตัวอย่างงานเหล่านี้เป็นงานหัตถกรรมที่มีคุณค่า เป็นภูมิปัญญาไม่ควรต้องสูญหายไปจากแผ่นดิน จึงเป็นสิ่งที่ SACICT ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แต่ในขณะเดียวกัน SACICT ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ให้ได้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนได้รับโอกาสในการพัฒนา สร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมทั้งหน้าที่ของความเป็นครูก็พร้อมส่งเสริมในเรื่องของการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งนับวันมีแต่สูญหาย ดังนั้นใน อัตลักษณ์แห่งสยาม ในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้ที่ SACICT เชิดชูได้เป็นที่รู้จัก และผู้ที่มาชมผลงานก็ได้สัมผัสกับผลงานในสาขาที่อาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน พร้อมจะได้ความรู้ผ่านการถ่ายทอดแนวคิด แรงบันดาลใจในการทำงานหัตถกรรมผ่านการสาธิต อันจะนำไปสู่การสร้างการรับรู้ เรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจและช่วยกันอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป" นางสาวแสงระวี กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(