นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการผลักดันโรงพยาบาลในสังกัดสู่การเป็น Smart Hospital อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลา ตลอดจนช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และดิจิทัลแพล็ตฟอร์มมาเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้ความร่วมมือของโรงพยาบาลสมุทรปราการกับธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และไร้รอยต่อ ตลอดจนส่งเสริมให้การบริหารงานและงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการบูรณาการด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบโรงพยาบาลภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
แพทย์หญิงฤทัย วรรธนวินิจ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมุทรปราการเป็นศูนย์กลางในการรักษาของจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง รับรองประชากรถึง 2.5 ล้านคน โดยเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 600 เตียง ให้บริการด้านสุขภาพ ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ แก่ประชาชน โดยมีการบริหารงานที่มุ่งเน้นบรรลุเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขใน 3 ด้าน คือ 1. ประชาชนสุขภาพดี ลดอัตราการรอคอยในการใช้บริการจาก 120 นาที เหลือ 24 นาที 2. คนทำงานมีความสุข ลดขั้นตอนการทำงานลง 70% 3. ระบบสุขภาพยั่งยืน สามารถบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นถึง15 ล้านบาท ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยในการก้าวสู่ Smart Hospital ทำให้บริการทางการแพทย์ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ และความปลอดภัย สามารถบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย ในการนำองค์ความรู้ด้านดิจิทัลและการเงินมาต่อยอดการบริหารและการให้บริการของโรงพยาบาล เพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Hospital
นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมสนองนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้านสาธารณสุข ด้วยการเชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลอันเป็น 1 ใน 5 Ecosystems หลักของธนาคาร ซึ่งเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างธนาคารและโรงพยาบาลสมุทรปราการในการพัฒนา Smart Hospital อันเป็นการยกระดับระบบสาธารณสุขของประเทศ และเป็นต้นแบบที่สมบูรณ์แบบให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
"ธนาคารได้ร่วมกับโรงพยาบาลนำเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงการให้บริการ โดยการบูรณาการแบบครบวงจร ประกอบด้วย Self Check-in เครื่องตรวจร่างกายอัตโนมัติ AI Chat Bot อัจฉริยะ เพื่อช่วยคัดกรองผู้ป่วย โดยใช้ระบบการสั่งงานด้วยเสียง Telemedicine การปรึกษาเพื่อหาแนวทางการดูแลรักษา ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ผ่านระบบ VDO Conference HIE Blockchain ระบบการบริหารจัดการฐานข้อมูลพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างหน่วยงานให้บริการทางการแพทย์ และระบบ Self Payment หรือระบบการชำระเงินด้วยตนเอง ที่สามารถตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาลก่อนชำระเงินได้แบบเรียลไทม์ ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สิทธิ์หลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์สวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ อีกทั้งสามารถเลือกชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยเงินสด บัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือสแกน QR Code ผ่านแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT และธนาคารอื่นๆ เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดความเสี่ยงและความยุ่งยากในการบริหารจัดการเงินสดให้กับโรงพยาบาล"
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธนาคารยังได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่ไทยแลนด์ 4.0 ในหลายโครงการ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการชิมช้อปใช้ โครงการยกระดับการให้บริการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และโครงการบริหารจัดการสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ และครอบครัวจำนวนกว่า 4.5 ล้านราย และธนาคารมีความพร้อมร่วมสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการนำเทคโนโลยีการตรวจสอบตัวตนที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อนำการบริการทางการแพทย์เข้าถึงประชาชนได้ตรงกลุ่ม และมีประสิทธิภาพผ่านการให้บริการสิทธิ์รักษาพยาบาลต่าง ๆ นายผยง ศรีวณิช กล่าวปิดท้าย