ประเด็นที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า ประชาชนสนใจและติดตามข่าวสารเรื่องไวรัสโคโรนามากถึงมากที่สุด ร้อยละ 56.6 และสนใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 27.8 โดยมีช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากที่สุดผ่านสื่อเฟซบุ๊ก ร้อยละ 66.7 และสื่อโทรทัศน์ร้อยละ 66.6 ทั้งนี้เมื่อถามถึงสื่อที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นในข้อมูล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.2 เชื่อมั่นข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 14 ที่เชื่อมั่นสื่อเฟซบุ๊ค แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นข้อมูลจากทางโทรทัศน์ มากกว่าเฟซบุ๊ค
ในส่วนของความเข้าใจและการรับรู้ข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาและการติดต่อ พบว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้องในระดับปานกลาง ร้อยละ 71.5 เชื่อว่าเชื้อไวรัสโคโรนา ล่องลอยทั่วไปในอากาศ แหล่งชุมชน คนหนาแน่น ร้อยละ 79.6 ยังคิดว่าตนเองไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสนี้ และประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างทราบวิธีป้องกันจากไวรัสเมื่อต้องออกนอกบ้าน ได้แก่ ร้อยละ 83.4 ระบุว่าใช้หน้ากากอนามัย ร้อยละ60.4 ระบุว่าล้างมือบ่อยๆ และร้อยละ 56.9 ใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อที่ฝ่ามือ เป็นต้น
เมื่อถามถึงการรับรู้ต่อการติดต่อของเชื้อไวรัสโคโรนาในสถานการณ์ต่าง ๆ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.0 คิดว่าเดินห้างสรรพสินค้าติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 83.5 คิดว่าการนั่งเครื่องบินลำเดียวกันติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 83.0 คิดว่าการไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติติดเชื้อไวรัสได้ ร้อยละ 82.1 คิดว่าการขึ้นรถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า ติดเชื้อไวรัสได้ ในขณะที่ร้อยละ 81.3 คิดว่าการนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะวงเดียวกัน ติดเชื้อไวรัสได้ และร้อยละ 47.5 คิดว่าการฟังเพลงร่วมกัน ติดเชื้อไวรัสได้ที่น่าพิจารณาคือ ความต้องการของประชาชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ร้อยละ 61.5 ต้องการให้แจกหน้ากากอนามัย ร้อยละ 51.2 ต้องการให้มีศูนย์ปฏิบัติการที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การป้องกันโรค และประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นจริง และร้อยละ 45 ต้องการให้แจกเจลล้างมือ
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาที่เริ่มมาจากประเทศจีน และกระจายไปยังหลายประเทศในโลก ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว สำหรับประเทศไทยการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม ตลอดจนความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมามีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ หลากหลายช่องทาง ทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการดำเนินการสนับสนุนวิจัยและวิชาการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคม ได้ดำเนินการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนในประเทศ ทั้งในประเด็นของการเข้าถึงข้อมูล ความเชื่อมั่นในข้อมูล ช่องทางการรับข่าวสาร การปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันตนเอง การรับรู้ความเสี่ยง ความวิตกกังวล และประเด็นการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจ การกำหนดมาตรการ และนโยบายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยรวม ตลอดจนเพื่อประกอบการนำส่งข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ
รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำงานสาธารณสุขปัจจุบันจะเน้นในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายในการทำให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยให้มากที่สุด
ผลการศึกษาสำคัญที่อยากเน้นของเรื่อง การเข้าถึงข้อมูล พบว่า สื่อที่ประชาชนเข้าถึงมากที่สุด และใช้ในการติดตามข่าวความเคลื่อนไหว และเชื่อมั่นในความถูกต้องมากที่สุด ของสื่อกระแสหลัก ยังคงเป็นโทรทัศน์ และในขณะที่สื่อโซเชียลคือ เฟสบุ๊ค
ส่วนเรื่องการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ พบว่า ผู้รับผิดชอบทุกภาคส่วนต้องพัฒนาวิธีการพูด การให้ข้อมูลง่ายๆ ให้ประชาชนเข้าใจ ในเรื่อง
1. การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) คิดว่าเชื้อไวรัสจะล่องลอยอยู่ในอากาศ
2. โอกาสติดเชื้อ ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) ยังไม่คิดว่าตนเองจะติดเชื้อไวรัสได้
3. การดูแลตนเอง และคนใกล้ชิด ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เน้นใส่หน้ากากอนามัย แต่มีจำนวนน้อยที่ทำการล้างมือบ่อยๆ และระวังตัวเรื่อง การใช้มือลูบหน้า แคะจมูก ปาก ตา
4. การดูแลคนใกล้ชิด ประมาณร้อยละ 80 ของประชาชนตอบว่า พาไปโรงพยาบาล
5. การดูแลคนในที่ทำงาน ประมาณร้อยละ 60 ก็ให้พักงาน ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนกว่านี้ เช่น ที่ทำงานอาจมีการคัดกรอง หรือวัดไข้ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคในที่ทำงาน และที่โรงพยาบาล ควรมีการแจ้งจุดและขั้นตอนในการตรวจรักษาที่เห็นได้ชัด สะดวกต่อการไปใช้บริการ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit