“ดัชนีฯ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปรับลดลงอยู่ในโซนซบเซาเป็นเดือนแรกในรอบ 4 ปี นักลงทุนกังวลสถานการณ์การท่องเที่ยวและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ขณะที่นักลงทุนคาดหวังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน นโยบายภาครัฐและเศรษฐกิจในประเทศ”

11 Feb 2020
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาเป็นเดือนแรกในรอบ 4 ปี โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลสถานการณ์การท่องเที่ยวและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะการประกาศปันผลของบริษัทจดทะเบียน นโยบายภาครัฐ และภาวะเศรษฐกิจในประเทศจากการลงนามทางการค้าของสหรัฐและจีน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด"

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2563) อยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" (Bearish) (ช่วงค่าดัชนี 40 - 79) โดยลดลง 9.91% มาอยู่ที่ระดับ 72.75
  • ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish)
  • ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการแพทย์ (HELTH)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์การท่องเที่ยว

"ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลดลงมาอยู่เกณฑ์ซบเซาเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ซบเซา หากพิจารณารายกลุ่ม กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาจากเกณฑ์ทรงตัวในเดือนก่อน ขณะที่กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ซบเซามาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ซบเซาเช่นเดิม

ในช่วงเดือนมกราคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวน โดยช่วงต้นเดือน ดัชนีทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 1600 จุด จากนั้นปรับตัวลดลงมากในระยะสั้นมาอยู่ที่ระดับ 1550 จุดจากปัจจัยความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่าน และฟื้นตัวขึ้นโดยได้รับผลดีจากการลงนามข้อตกลงการค้าขั้นที่ 1 ระหว่างสหรัฐและจีน โดยดัชนีทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1600 จุดในช่วงกลางเดือน จากนั้นดัชนีเคลื่อนไหวลดลงค่อนข้างมากจากร่างพรบ.งบประมาณล่าช้าและปัญหาการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโคโรน่าในจีนและการห้ามนักท่องเที่ยวจีนกรุ๊ปทัวร์เดินทางไปยังต่างประเทศ โดยดัชนีฯ ลดลงมาอยู่ที่ 1510-1520 จุด ในช่วงปลายเดือน โดยทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่นักลงทุนกังวล การท่องเที่ยวจากปัญหาเชื้อไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวจีนในไทยเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากเชื้อไวรัสโคโรน่า ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังการลงนามข้อตกลงทางการค้าขั้นที่ 1 ทิศ ทางนโยบายทางการเงินและนโยบายทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว แนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง ผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการไหลเข้าออกของเงินทุน"

ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2563

ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 7 สัปดาห์ข้างหน้า นับจากวันที่สำรวจ (3 ก.พ. 63)

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. มีนาคม 2563 (ประมาณ 7 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 50 และ 66 ตามลำดับ ลดลงจากครั้งที่แล้วเล็กน้อยเนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับลดลงแล้วในช่วงต้นปีก่อนทำการสารวจความเห็น ซึ่งได้มีการรับรู้เหตุการณ์แพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส การปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในจุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์แล้วจึงมีโอกาสลดลงอีกไม่มาก โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่มีมุมมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมีจานวนมากขึ้น ดัชนีคาดการณ์จึงยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)" จาก 1.11% ในรุ่นอายุ 5 ปี และ 1.28% ในรุ่นอายุ 10 ปี ณ วันที่ทาการสารวจ (3 ก.พ. 63) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัว การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัว และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง