นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนในภาคการผลิตและบริการของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จึงเร่งดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับผู้ปกครอง และนักเรียน เกี่ยวกับการเรียนอาชีวศึกษา ที่ผู้เรียนสามารถทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบและมีรายได้ระหว่างเรียน จากการนำทักษะและความรู้ด้านวิชาชีพไปใช้สร้างงาน ซึ่งหนึ่งในช่องทางที่เป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการเรียนอาชีวศึกษา คือการทำหนังสั้นที่เป็นการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ของชาวอาชีวศึกษา โดยการเชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ส่งหนังสั้นเข้าประกวด ในชื่อกิจกรรม "อวด-ดี อาชีวะ 5" โดยมีเกณฑ์ว่าจะต้องสื่อสารในเรื่อง 1. คนช่างสร้างชาติ 2. สุดยอดนวัตกรรม 3. จิตอาสาอาชีวะ และ 4. อาชีวะเปลี่ยนชีวิต ทั้งนี้ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง ได้จัดให้มีการอบรมครู นักเรียน และนักศึกษา ที่สนใจการทำหนังสั้น โดยได้จัดวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านการทำหนังสั้น มาให้ความรู้ ให้คำแนะนำ
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ผ่านการอบรมแล้ว มีทีมนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ส่งหนังสั้นเข้าประกวดจำนวน 91 ผลงาน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าครั้งก่อน ๆ ที่เคยจัดประกวด นับว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังบวก พลังที่ต้องการแสดงออกถึงความดีงาม และความภาคภูมิใจในความเป็นชาวอาชีวศึกษา ทำให้เกิดมุมมองใหม่ เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ และส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกให้กับสังคม เพราะการสื่อสารเรื่องราว ดี ๆ ของอาชีวศึกษา ควรจะต้องเริ่มต้นจากชาวอาชีวศึกษาเอง และขณะนี้คณะกรรมการก็ได้คัดเลือกหนังสั้นจำนวน 21 เรื่อง เพื่อเข้ารอบชิงชนะเลิศ ส่วนหนังสั้นที่เข้ารอบล้วนแล้วแต่มีชื่อเรื่องที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตามค้นหา เช่น "ประแจทอง" วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม "มาร์ดียผนังมีชีวิต" วิทยาลัยธุรกิจและการท่องเที่ยวกรุงเทพ "มนต์รักฟักไข่" วิทยาลัยการอาชีพหนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ "รูฟ" วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ "คนพิเศษ" วิทยาลัยสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี "ตรวจรถ ตรวจรัก" วิทยาลัยเทคนิคนางรอง จ.บุรีรัมย์ "เปลี่ยน" วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งก็เข้ารอบถึง 2 เรื่องด้วยกัน ซึ่งในวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2563 อาชีวะจะจัดให้มีการอบรมทีมหนังสั้นทั้ง 21 เรื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของหนังสั้นให้ดีขึ้นก่อนเข้าชิงรางวัล
เลขาธิการฯ กล่าวปิดท้ายว่า การประกวดหนังสั้นครั้งนี้ แม้ท้ายที่สุดจะเป็นการชิงรางวัลสุดยอดผลงานหนังสั้น อวด-ดี อาชีวะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่รางวัลที่อยู่สุดท้ายปลายทาง แต่คือกระบวนการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ รับรู้ศาสตร์และทักษะเชิงช่างของสาขาวิชาชีพที่เปิดสอนในอาชีวศึกษา เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อน ๆ ต่างวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุดคือความภาคภูมิใจที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน เพื่อสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ของชาวอาชีวศึกษา ด้วยฝีมือและหัวใจของคนอาชีวศึกษาเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit