ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่นมรณะ PM 2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด จากการศึกษาวิจัยพบว่าประชากรของประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านชีวิตและสุขภาพ จากฝุ่นมลพิษแทบทุกภาคมาอย่างยาวนานกว่าทศวรรษและทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงฤดูแล้ง (ช่วงเดือนธันวาคม - เมษายน) โดยเฉพาะ 3-5ปีล่าสุด โดยแหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นปัญหาและมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนมากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง คือการเผาในพื้นที่เกษตรเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อย ข้าวโพด และข้าว ในทุกภาคยกเว้นภาคใต้) และยังมีการทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ภูเขาบ่อยครั้งที่ไฟลุกลามออกนอกพื้นที่ปลูกกลายเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของไฟป่า (ภาคเหนือตอนบน) ตลอดจนมีการเพิ่มการเผาพื้นที่เกษตรจากการส่งเสริมอุตสาหกรรม เกษตรในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ทำให้พื้นที่ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ในช่วงฤดูแล้งกันอย่างถ้วนทั่ว รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ได้รับ PM2.5 จากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรเป็นหลักด้วยเช่นกัน เพราะกระแสลมที่พัดมวล PM2.5 จากแหล่งกาเนิดเข้าสู่กรุงเทพฯและ ปริมณฑลร่วมกับสภาพความกดอากาศ การกักขังอากาศไม่มีการถ่ายเทเอื้อให้มลพิษ PM2.5 ลอยแขวนในบรรยากาศอยู่นาน ทำให้สัดส่วนแหล่งกำเนิด PM2.5 มาจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตรมีอิทธิพลมากกว่ามลพิษจากการจราจรหรือมลพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวโดยสรุปได้ว่ามลพิษ PM2.5 ในประเทศไทยในช่วงฤดูแล้งเกิดจากการเผาอุตสาหกรรมเกษตร อ้อย ข้าวโพด และข้าว เป็นหลัก และถูกซ้ำเติมด้วยการเผาอุตสาหกรรมเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสาธารณรัฐกัมพูชา และสาธารณรัฐเมียนมาร์
อ.นพ.รังสฤษฏ์ กาญจนะวณิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้แก่ ระบบการหายใจ (เช่น โพรงจมูกอักเสบทั้งแบบภูมิแพ้ และติดเชื้อหลอดคอ กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดอักเสบ) การอักเสบจาก PM2.5 ส่งเสริมให้ระบบการหายใจมีการอักเสบ มากขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อได้รับสารก่อแพ้และการอักเสบจาก PM2.5 ยังทำให้ติดเชื้อ (เช่นไวรัสไข้หวัด ไวรัส ไข้หวัดใหญ่ แบคทีเรีย)ได้ง่ายและรุนแรงมากขึ้นหลายเท่า และจำนวนไม่น้อยที่เกิดการอักเสบทั้งแบบ ภูมิแพ้และแบบติดเชื้อผสมผสานกัน ระบบหัวใจ(กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว) ระบบหลอดเลือด (หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเสื่อม โรคstrokeของหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ หลอดเลือดดำอุดตัน) ระบบสมอง(สมองด้อยประสิทธิภาพ สมองเสื่อม สมาธิสั้นและระบบจิตประสาท (อารมณ์แปรปรวน ความผิดปกติทางจิตแบบซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย) และมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ (โดยเฉพาะมะเร็งปอด) ดังนั้น PM2.5 จึงเป็นมลพิษที่เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิตทั้งแบบฉับพลัน เฉียบพลัน และทำให้อายุขัยสั้นลง เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยทั้งฉับพลันและเฉียบพลันอาจรุนแรง ถึงกับต้องไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินหรือต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ โรคระบบการหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดหรือทำให้โรคเรื้อรังดังกล่าว มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นรวมทั้งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด
รศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 กับสมองและเส้นเลือดสมองและระบบประสาทด้วย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังผนังเส้นเลือดจาก ฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้เส้นเลือดสมองเสื่อม และเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ปัญหายังส่งผลกระทบถึงเด็ก โดยสมองของเด็กจะเหี่ยวเล็กลง รวมถึงส่งผลทำให้เกิดสมาธิสั้นได้ด้วย และจากการสำรวจเมื่อปี 2552 จำนวนผู้เสียชีวิตรายปีจากค่าเฉลี่ยฝุ่นมรณะPM2.5 อยู่ที่ 38,410 ราย และหากเทียบกับจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจากทางท้องถนนต่อปี ประมาณ 9,490 ราย ยังถือว่าแตกต่างกันมาก ดังนั้นการลดปริมาณฝุ่นมรณะลงได้ 20% จะสามารถลดการเสียชีวิตของผู้คนลงถึง 22% เลยทีเดียว
โดยสรุปสำหรับชาวเชียงใหม่ หากฝุ่นมรณะPM2.5 รายวันเพิ่มขึ้น 10 มคก./ลบ.ม จะสัมพันธ์ชัดเจนกับจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนที่อำเภอเชียงดาว หากชาวเชียงดาวได้รับฝุ่นมรณะPM2.5 รายวันเพิ่มขึ้น 10 มคก./ลบ.ม จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 ภายใน 1 สัปดาห์และผู้ป่วยที่นอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 และในวันที่ค่าฝุ่นพิษ PM10 เกินค่ามาตรฐาน โรคหอบหืดกำเริบเพิ่มขึ้น 35% และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบเพิ่มขึ้น 29%
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit