โดยบ่ายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งถึง ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เฝ้ารับเสด็จ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้บริหารบริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ถวายพวงมาลัย
จากนั้นเสด็จขึ้นชั้น 5 (โดยลิฟต์) ประทับรถไฟฟ้าไปยังบริเวณหน้าไดมอนด์ ฮอลล์ เสด็จลงจากรถไฟฟ้า ทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปยังบริเวณฉายพระรูป ฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะกรรมการจัดงาน ฯ และผู้สนับสนุน การจัดงาน ฯ เสด็จเข้าห้องไดมอนด์ ฮอลล์ ประทับพระเก้าอี้
นางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตร คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กราบทูลรายงานถึงความเป็นมาและกิจกรรมของการจัดงาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา" การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2562 โดยสังเขปดังนี้ กิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2532 จนถึงปีปัจจุบัน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 31 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนของชาติ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน สร้างทักษะวิชาชีพด้านความคิด วิเคราะห์ และสร้างความรู้ ด้วยตนเอง จากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ในการพัฒนาผลงาน ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และประเทศชาติ การจัดงาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา" การประกวดสิ่งประดิษฐ์ ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2562 ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2563 มีผลงานสิ่งประดิษฐ์จำนวน 180 ผลงาน เป็นผลงานของนักเรียน นักศึกษา ที่ผ่านการประกวดจากระดับอาชีวศึกษาจังหวัด และระดับภาค ทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้นกว่า 7,000 ผลงาน และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา เป็นผลงานที่ผ่าน การแข่งขันรอบคัดเลือก เข้าสู่การแข่งขัน ระดับชาติ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยแบ่งออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่
หุ่นยนต์ยุวชนอาชีวศึกษา หุ่นยนต์อาชีวศึกษา ABU หุ่นยนต์กู้ภัยอาชีวศึกษา หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมอาชีวศึกษา หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติอาชีวศึกษา หุ่นยนต์ออกแบบชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมอาชีวศึกษา หุ่นยนต์ประกอบอาหาร การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ระดับปวช. และการแข่งขันเขียนโปรแกรม Coding ควบคุม Cobot นอกจากนี้ภายในงาน ยังมี นิทรรศการนวัตกรรมอาชีวศึกษา และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี จากหน่วยงานภาคเอกชนโดยการจัดงานในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จากภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน บริษัท เซียร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งภาคเอกชนอีกหลายหน่วยงาน
ในโอกาสนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงศึกษาธิการ ขอประทานพระอนุญาต กราบทูลเบิก นายสุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อกราบทูลเบิก นายชัยมงคล เสนาสุ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา และคณะกรรมการเข้าเฝ้าถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระอัธยาศัย จำนวน 17 ราย ผู้บริหารและคณะกรรมการถวายของที่ระลึก จำนวน 15 ราย นักเรียน นักศึกษา ที่ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา จำนวน 9 ราย เข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นักเรียน นักศึกษารองชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์เข้ารับโล่รางวัล จำนวน 27 ราย นักเรียน นักศึกษาที่ชนะการประกวด สิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ เข้ารับโล่ จำนวน 45 ราย นักเรียน นักศึกษา ที่ชนะการประกวดการนำเสนอผลงานวิจัยนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ภาคภาษาอังกฤษ เข้ารับโล่รางวัล จำนวน 4 ราย และผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้สนับสนุนการจัดงานเข้ารับประทาน โล่เกียรติคุณ จำนวน 19 ราย ในโอกาสนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการนวัตกรรมอาชีวศึกษา และเสด็จไปทอดพระเนตรการสาธิตการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนอาชีวศึกษา และหุ่นยนต์อาชีวศึกษาที่ได้รับรางวัลทั้ง 9 ประเภท จากนั้นเสด็จออกจากห้องไดมอนด์ ฮอลล์ ประทับรถไฟฟ้าทอดพระเนตรผลงานสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ เสด็จลงจากรถไฟฟ้า เสด็จลง ชั้น G โดยลิฟท์ และเสด็จประทับรถยนต์ที่นั่ง เสด็จกลับ