นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ด้วยฤดูแล้งปีการผลิต 2562/63 เป็นปีที่มีน้ำน้อย แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามศักยภาพน้ำ จำนวน 7.21 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 52 ของปีที่ผ่านมา (จำนวน 13.95 ล้านไร่) ส่งผลให้หลายพื้นที่ไม่ได้เพาะปลูกพืช และทำให้เกษตรกรขาดรายได้ในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับบางพื้นที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมถึงการเกิดน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้แก่พืชได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน และกำหนด 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 2562/63 ดังนี้
1. การเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2563 โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนข่าวสาร สถานการณ์แล้ง การขาดแคลนน้ำ เยี่ยมเยียน ติดตามให้คำแนะนำทางวิชาการในการดูแลรักษาสวน การให้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ย เพื่อป้องกันความเค็มสร้างความเสียหายแก่พืช แนะนำให้เกษตรกรรักษาความชื้นในแปลง เช่น ลอกดินเลนในร่องสวนมาปิดบนแปลงหรือโคนต้น การใช้วัสดุคลุมดินช่วยให้ประหยัดน้ำ และการตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น
2. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ "เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2563" ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2563 ใน 77 จังหวัด เป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในทุกด้านเพื่อรับมือภัยแล้ง โดยจัดทำสื่อแจ้งสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง การช่วยเหลือต่างๆ ของโครงการรัฐ การปรับตัวในการดูแลรักษาพืชช่วงฤดูแล้งด้วยวิธีการที่ถูกต้อง การสำรองน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด สถานการณ์น้ำเค็มและการเฝ้าระวังป้องกันปฏิบัติตามแผน โดยเสนอกรณีตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับภัยแล้ง การเผยแพร่ตามช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐ รวมทั้งมีข้อมูลในการปฏิบัติสำหรับสถานการณ์แล้ง
3. โครงการบูรณาการกิจกรรมและความร่วมมือในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทานเพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้แก่เกษตรกร ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2563 ใน 77 จังหวัด เป็นการบูรณาการโครงการ/กิจกรรม ปี 2563 ในรูปแบบการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้ในช่วงฤดูแล้ง เช่น หัตถกรรม การแปรรูปผลผลิตเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชน การอบรมให้ความรู้การปรับตัวในภาวะแล้ง และพิจารณาต่อยอดโครงการตามความต้องการของชุมชนเดิม เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่พืชฤดูแล้งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน 20 จังหวัด พื้นที่ไม้ผลนอกเขตชลประทานที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 30 จังหวัด และพื้นที่อื่นๆ
นอกจากนี้ จะมีการแจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบสถานการณ์ การติดตามเยี่ยมเยียน และแนะนำข้อควรปฏิบัติให้แก่เกษตรกร ได้แก่ การไม่ปลูกพืชฤดูแล้งเกินแผน การใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า คำแนะนำการดูแลรักษาสวนไม้ผล เช่น การใช้วิธีเขตกรรม รวมทั้งประสานการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่จะให้การสนับสนุนแหล่งน้ำ
4. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2563 ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 2562 – พ.ค. 2563 ใน 24 จังหวัด โดยส่งเสริมและขยายผลพื้นที่การปลูกพืชหลากหลายและใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งทดแทนการทำนาปรัง และเชื่อมโยงกับระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สนับสนุนการเชื่อมโยงตลาด จัดทำแปลงเรียนรู้ พัฒนาความรู้เจ้าหน้าที่และเกษตรกร
5. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้าน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562) ดำเนินการใน 39 จังหวัด เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยสร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยและดำเนินการในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 โดยสนับสนุนเป็นเงินเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ซึ่ง ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรสำหรับการปลูกพืช ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกร 100,000 ครัวเรือน พื้นที่ 1 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท และถั่วเขียว เกษตรกร 50,000 ครัวเรือน พื้นที่ 0.4 ล้านไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท
6. โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2562/63 ดำเนินการช่วงเดือน ธ.ค. 2562 – พ.ค. 2563 ใน 27 จังหวัด โดยส่งเสริมความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาอย่างถูกต้องให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 เชื่อมโยงการตลาดเครือข่ายผู้รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ให้เกิดการกระจายการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้งเพื่อนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้นทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ
7. การถ่ายทอดความรู้และการจัดวันสาธิตในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2563 ใน 77 จังหวัด เป็นการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่แล้งทั่วประเทศครอบคลุม 882 ศพก.โดยปรับหลักสูตร ปรับรูปแบบกิจกรรม เพิ่มองค์ความรู้และเนื้อหาจากเดิมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า การดูแลรักษาพืชด้วยวิธีเขตกรรม การประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง (แปรรูป, หัตถกรรม) เป็นต้น
8. โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 2563 ใน 77 จังหวัด โดยบูรณาการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปให้บริการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ณ จุดที่มีปัญหาและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งจะจัดเจ้าหน้าที่ องค์ความรู้ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์เข้าไปในพื้นที่และประชาสัมพันธ์นัดหมายเกษตรกรมารับบริการ โดยปรับรูปแบบการให้บริการเข้าไปแก้ปัญหาเน้นหนักการรับมือกับสถานการณ์แล้ง และวิธีการปรับตัว รวมทั้งความช่วยเหลือต่างๆ เช่น เทคนิคการใช้น้ำอย่างประหยัด ช่องทางการขอรับความช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การรักษาความชื้นในแปลง การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้ง
ทั้งนี้ หากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit