กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือ ม.มหาสารคาม และ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน สานต่ออาชีพพระราชทาน สนับสนุนทุนการศึกษาปริญญาตรีบุตร - หลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม

07 Feb 2020
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมปากช่อง จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 ว่า "ต้องปลูกฝังลูกหลานสมาชิกให้รักอาชีพการเลี้ยงโคนม มีผู้สืบทอดอาชีพการเลี้ยงโคนม และมีการอบรมส่งเสริมให้ความรู้ในการเลี้ยงโคนม"
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จับมือ ม.มหาสารคาม และ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน สานต่ออาชีพพระราชทาน สนับสนุนทุนการศึกษาปริญญาตรีบุตร - หลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม

กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้สานต่อแนวพระราชดำริโดยหารือร่วมกับสถาบันการศึกษา ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตวแพทย์หรือสัตวบาลให้กับลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ตั้งแต่ปี 2561 ในการสนับสนุนทุนการศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาวิชาด้านปศุสัตว์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโคนมตลอดหลักสูตร

ปัจจุบัน สหกรณ์โคนมทั่วประเทศมีจำนวน 99 แห่ง และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมากถึง 36 แห่ง ในปี 2563 กรมฯจึงได้ขยายความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มอบทุนการศึกษาให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์โคนมเข้าเรียนต่อที่นี่ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีการเปิดสอนคณะสัตวศาสตร์ เพี่อให้ผู้ที่ได้รับทุนดังกล่าว นำความรู้กลับมาพัฒนาฟาร์มโคนมของครอบครัว และเข้าไปทำงานในสหกรณ์โคนมที่พ่อแม่ตนเองสังกัด เนื่องจากปัจจุบัน สหกรณ์โคนมยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้านการบริหารจัดการฟาร์มโคนม ดังนั้น ผู้ที่ได้รับทุนด้านสัตวบาลก็จะสามารถกลับไปสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมของครอบครัวและคอยให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่ด้วย

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กรมฯได้จัดสรรงบประมาณจากดอกผลกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีให้กับบุตร – หลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ได้เข้าเรียนในสาขาวิชาด้านปศุสัตว์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเลี้ยงโคนมตลอดหลักสูตร เพื่อจะได้นำความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมมาพัฒนาฟาร์มและการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์โคนม กลับมาประกอบอาชีพต่อในฟาร์มโคนมของครอบครัว หรือกลับไปทำงานให้กับสหกรณ์โคนมที่ให้ทุนการศึกษา เพื่อจะได้ช่วยพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมและธุรกิจของสหกรณ์โคนมให้เจริญก้าวหน้าและมีความเข้มแข็งในอนาคต โดยกรมฯได้จัดสรรร

ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี คือปีการศึกษา 2563 – 2565 โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จัดทำกรอบการดำเนินงาน ระเบียบ ขั้นตอนในการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่บุตร – หลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม และได้กำหนดการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ (MOU) กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ (MOU) กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ณ ห้องประชุมเสรี – สมพร ทรัพยสาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 55-65 ปี และมีความต้องการที่อยากให้ลูกหลานกลับมา สืบทอดอาชีพการเลี้ยงโคนมจากรุ่นสู่รุ่น ขณะเดียวกันในส่วนของสหกรณ์โคนมก็ยังขาดแคลยบุคลากรที่มีความรู้ในการ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาส่งเสริมให้กับฟาร์มโคนมของสมาชิก กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนม จำเป็นต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นบุตรหลานของสมาชิกสหกรณ์ เข้ามาสานต่ออาชีพและเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาสหกรณ์โคนมให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอนาคต"ขณะนี้มีผู้สนใจสมัครขอรับทุนแล้ว 15 ราย และคาดว่าโครงการนี้จะได้รับการตอบรับจากสมาชิกสหกรณ์และลูกหลานสมาชิกสหกรณ์โคนมเป็นอย่างมาก การทำข้อตกลงกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้ทุนแก่บุตรหลายสมาชิกสหกรณ์ได้เข้าเรียนต่อปริญญาตรี เพื่อร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ในกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมของภาคสหกรณ์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือจะไม่จบแค่ 3 ปีเท่านั้น กรมฯพร้อมจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาและสานต่อโครงการนี้ต่อไปในอนาคตเพื่อให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ได้มีโอกาสเรียนต่อ และอาจจะมีการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำไปแนะนำแก่สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมต่อไป" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีและน่าสนับสนุน ถือว่าเป็นมิติใหม่ในการที่จะส่งเสริมให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ได้มีความรู้และเข้าใจอาชีพการทำเกษตรเพิ่มขึ้น ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีทั้งคณะสัตวแพทย์ วิทยาศาสตร์บัณฑิต และสัตวศาสตร์ หากต้องการโควตาเรียนต่อให้กับลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ ทางมหาวิทยาลัยพร้อมดูแลให้เป็นพิเศษ และก็เชื่อมั่นว่า ถ้าบุตรหลานของเกษตรกรมาเรียนที่นี่ เราจะดูแลให้เขาจบไปเป็นบัณฑิตที่ดีแล้วกลับไปช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องไม่ใช่เฉพาะครอบครัวเขา แต่รวมถึงเกษตรกรอื่น ๆ ในพื้นที่และสมาชิกของสหกรณ์ที่เขาสังกัดอยู่ด้วย และทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามพร้อมให้ความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเท่านั้น แต่พร้อมจะให้ความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องการพัฒนาภาคการเกษตรและส่งเสริมถึงเกษตรกรให้ได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับบุตร – หลานของสมาชิกสหกรณ์โคนมที่มีความประสงค์ขอเข้ารับทุนการศึกษาต่อในสาขาวิชาด้านปศุสัตว์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการเลี้ยงโคนม สามารถสมัครขอรับทุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยคุณสมบัติของผู้ขอรับทุนจะต้องเป็นบุตร-หลานของสมาชิกสหกรณ์โคนมหรือบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกมีอาชีพเลี้ยงโคนม จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 5 ภาคเรียน ไม่ต่ำกว่า 3.00 มีความประพฤติดี มีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ โทรศัพท์ 0 2669 4577 หรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 1-20 และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมฯได้มีข้อกำหนดสำหรับผู้รับทุนดังกล่าว เมื่อจบการศึกษาแล้ว จะต้องกลับไปทำงานในสหกรณ์โคนมต้นสังกัด ไม่น้อยกว่า 5 ปี เพื่อจะได้นำความรู้และเทคโนโลยีกลับไปพัฒนาฟาร์มและสหกรณ์โคนมให้มีมาตรฐาน สามารถผลิตน้ำนมให้มีคุณภาพ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รวมถึงมีส่วนช่วยพัฒนาธุรกิจสหกรณ์โคนมและสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยง โคนมให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(