การพูดที่มีศิลปะ สร้างมูลค่ามากมายให้กับผลงานได้พอๆ กับผลิตภัณฑ์ ดังเช่นนักธุรกิจชื่อดังระดับโลกอย่างอีลอน มัสก์ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือแจ็ค หม่า ที่หลายคนรอคอยการออกมาแสดงวิสัยทัศน์ หรือการพูดนำเสนอผลงานเด็ดๆ ของพวกเขาในทุกปี เรียกได้ว่าบุคคลเหล่านี้นอกจากจะมีความอัจฉริยะในโลกธุรกิจแล้ว ยังมีพรสวรรค์ในด้านการพูด การนำเสนอที่ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับผลงานอย่างโดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งความสามารถดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แต่เพียงคนในวงการธุรกิจเท่านั้น แต่วงการวิทยาศาสตร์ที่หลายคนคิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องอ่านตำรา หรือพัฒนาผลงานวิจัยอยู่ในห้องแล็บ ก็ต้องการนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในการพูด การนำเสนอ และการสื่อสารไม่ต่างจากนักธุรกิจระดับโลกดังที่กล่าวมา
"เฟมแล็บ ไทยแลนด์" (FameLab Thailand) เป็นเวทีที่ส่งเสริมทักษะการพูด การนำเสนอ ของกลุ่มนักวิจัย และบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปีนี้ บริติช เคานซิล ได้ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม อพวช. สวทช. สอวช. และทรู คอร์ปอเรชั่น จัด "เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2020" (FameLab Thailand 2020) ขึ้นอีกครั้ง เพื่อค้นหาตัวแทนนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย เป็นตัวแทนในการแข่งขันในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก ณ สหราชอาณาจักร (Cheltenham Science Festival) โดยปีที่ผ่านมาเราได้ตัวแทนประเทศไทยเป็นนักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ที่พกพาความมั่นใจมาเข้าร่วมการแข่งขันพร้อมแพสชั่นอันเต็มเปี่ยมในการพัฒนาผลงานวิจัย อีกทั้งมีเป้าหมายอยากทำงานในองค์กรระดับนานาชาติ และนำความรู้ที่ได้กลับมาต่อยอดให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย อย่าง "จัสท์ ณภัทร ตัณฑิกุล" โดยหลังจากที่จัสท์คว้าชัยชนะในเวทีเฟมแล็บ ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีสุดล้ำในหัวข้อ "ผลิตเนื้อสัตว์ในห้องแล็บ อาหารแห่งอนาคต" (Meat the Future) โดยในบทความนี้เธอจะมาแชร์เรื่องราว โอกาสที่ได้รับมากมายหลังจากเป็นผู้ชนะเฟมแล็บ ไทยแลนด์ รวมถึงเคล็ดลับการพรีเซนต์เรื่องราววิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาทีอย่างไร ให้พิชิตใจกรรมการ
นางสาวณภัทร ตัณฑิกุล หรือจัสท์ นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ ผู้ชนะการประกวดโครงการเฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2019 เล่าว่า ตนเข้าร่วมการแข่งขันในโครงการเฟมแล็บ ไทยแลนด์ เป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ได้เข้ารอบไปถึง 10 คนสุดท้าย การกลับมาอีกครั้งถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่มากขึ้น และตั้งเป้าหมายสูงสุดที่จะคว้าชัยชนะมาให้ได้ ทั้งการเลือกหัวข้อที่ตัวเองมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง การทำความเข้าใจเรื่องที่จะพูด และการฝึกซ้อม จนทำให้ได้รับชัยชนะในการแข่งขันประจำปี 2019 และได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีเฟมแล็บระดับโลก ซึ่งในระหว่างการแข่งขันทั้งที่ไทย และที่สหราชอาณาจักร ตนได้พบกับเพื่อนผู้เข้าแข่งขัน และผู้เชี่ยวชาญในวงการวิทยาศาสตร์มากมาย ที่มีอุดมการณ์การผลักดันผลงานวิจัย และมีความสามารถในการนำเสนอผลงานได้อย่างโดดเด่น อีกทั้งได้เรียนรู้วิธีการบอกเล่าเรื่องราววิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจจากคนเก่งๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ ตนยังได้รับโอกาสมากมายที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การได้ร่วมงานกับบริษัทที่ใฝ่ฝันในสหรัฐอเมริกา 'เมมฟิส มีท' (Memphis Meats) บริษัทที่ทำงานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ (Cell-based meat) เพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืน ตลอดจนได้รับเกียรติให้ไปบรรยายในองค์กรรัฐ และเอกชน อาทิ พิธีกรงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดโดย อพวช. และได้รับเกียรติเป็นวิทยากรร่วมแชร์องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจ จัดโดยบริษัทยูโอบี เคเฮียน ประเทศไทย เป็นต้น
นางสาวณภัทร เล่าถึงชีวิตการทำงานที่สหรัฐอเมริกาว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานกับบริษัทเมมฟิส มีท(Memphis Meats) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานด้านการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์ เมมฟิส มีท เป็นบริษัทแรกของโลกที่สามารถผลิตมีทบอล เนื้อไก่ และเนื้อเป็ดจากเซลล์ได้ นอกจากนี้ เมมฟิส มีท ยังให้ความสำคัญกับการคัดเลือกทีมงานนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากหลายประเทศมาร่วมงาน โดยบริษัทจะคัดเลือกผู้ที่มีความเก่งและโดดเด่นในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันองค์ความรู้ และร่วมกันพัฒนาผลงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานเก่งๆจากหลากหลายชาติ ทำให้ค้นพบว่านักวิทยาศาสตร์ที่เก่ง และมีอนาคตไกล ต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อต่อไปนี้ 1. กล้าที่จะสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ (creator/ innovator) 2. รักการสื่อสาร และทำงานเป็นทีม นำเสนอผลงาน หรือไอเดียให้กับทีมงานสู่สาธารณะได้อย่างโดดเด่น (collaborator/ presenter) 3. กล้าลงมือทำ (maker) 4. รักและหลงใหลในงานที่ทำ มุ่งมั่น อดทน ตั้งใจ ไม่ล้มเลิกง่ายๆ (passion/ grit/ commitment) คุณสมบัติทั้ง 4 ข้อนี้ จะทำให้ผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ใช่งานวิจัยที่อยู่แค่ในห้องแล็บ
นอกจากนี้ จัสท์ยังได้เผยเทคนิค 5 ข้อ ในการพรีเซนต์ผลงานวิจัย หรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ภายใน 3 นาที อย่างไรให้สนุก น่าสนใจ เข้าใจง่าย และตรงตามเกณฑ์ 3C ของเฟมแล็บ ได้แก่ เนื้อหาถูกต้องชัดเจน (Content) วางโครงเรื่องให้ง่ายต่อการเข้าใจ (Clarity) และนำเสนอได้มีเสน่ห์ น่าสนใจ (Charisma) ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดในโครงการเฟมแล็บ ตลอดจนคนทั่วไปที่อยากเพิ่มทักษะด้านการพูดนำเสนอและการสื่อสาร
นางสาวณภัทร กล่าวเพิ่มว่า นอกจากเทคนิคดังกล่าวแล้ว ลองฝึกซ้อมกับคนใกล้ตัว และรับฟีดแบคมาพัฒนาตัวเอง เพราะบางครั้งการที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์อาจจะทำให้เราติดใช้คำศัพท์วิชาการโดยไม่รู้ตัว การฝึกซ้อมโดยการเล่าเรื่องที่จะนำเสนอให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ จะช่วยให้เราได้รับฟีดมาปรับปรุงการใช้คำ และรูปแบบการนำเสนอให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การออกเสียงภาษาอังกฤษให้ถูกต้องชัดเจน พูดให้ช้าลงกว่าที่พูดปกติเล็กน้อย หากฝึกฝนบ่อย ๆ จะช่วยให้เป็นนักสื่อสารที่ดีได้
"นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ นอกจากเก่งในเรื่องวิชาการแล้ว ยังต้องเก่งเรื่องการนำเสนอ หรือเรียกได้ว่ามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักขายในตัว เวทีเฟมแล็บ ไทยแลนด์ เป็นโอกาสอันดีที่เหล่านักวิทยาศาสตร์จะได้บอกโลกว่าเรากำลังพัฒนาสิ่งเล็ก ๆ ที่อาจจะยิ่งใหญ่ในอนาคต อีกทั้งเป็นการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ นอกจากพัฒนางานวิจัยอยู่ในห้องแล็บ แต่ได้ลองออกมาจับไมค์และบอกเล่าเรื่องราวให้คนทั่วไปได้รับรู้ และอินไปกับผลงานของเรา สำหรับจัสท์ การตัดสินใจเข้าประกวดในโครงการเฟมแล็บ ถือเป็นการก้าวออกมาจากคอมฟอร์ตโซนที่คุ้มค่า และทำให้ได้รับโอกาสที่ล้ำค่าตามมามากมาย" นางสาวณภัทร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดในโครงการ "เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2020" (FameLab Thailand 2020) สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและส่งวิดีโอบอกเล่าวิทยาศาสตร์ หรืองานวิจัยของคุณใน 3 นาที ผ่านทางเว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab ได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 มีนาคม 2563
เกี่ยวกับบริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล คือ องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เราทำงานกับประเทศต่าง ๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลกผ่านงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ การศึกษา และภาคประชาสังคม ในปีที่ผ่านมาเราสื่อสารโดยตรงกับผู้คนมากกว่า 80 ล้านคน และสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสิ่งพิมพ์กับผู้คนกว่า 791 ล้านคน เราสร้างประโยชน์แก่ประเทศที่เราทำงานด้วยผ่านทรัพยากรทางวัฒนธรรมของสหราชอาณาจักร เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นโดยการสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน บริติช เคานซิล ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2477 ภายใต้พระบรมราชานุญาตและพระราชบัญญัติองค์การอิสระแห่งสหราชอาณาจักร เราได้รับเงินสนับสนุนร้อยละสิบห้าโดยรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit