อว. จับมือ คค. พันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางไทย

19 Feb 2020
กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ กระทรวงคมนาคม โดย กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บูรณาการความร่วมมือพันธมิตรระบบรางภาครัฐ/สถาบันการศึกษา รวม 15 หน่วยงาน สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย ครอบคลุมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง ทดสอบและการทดลอง พัฒนาทรัพยากรบุคคล หวังช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งทางรางและความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ด้านระบบราง สนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า สนับสนุนการผลิตบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านระบบราง ตลอดจนวิจัยและพัฒนาแก้โจทย์ปัญหาด้านระบบรางของประเทศ สร้างความยั่งยืนให้ระบบรางของไทย
อว. จับมือ คค. พันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางไทย

สำหรับการลงนามความร่วมมือในวันนี้ (19 กุมภาพันธ์ 2563) ได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำคมนาคม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม โดยมี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. และ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำคมนาคม กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวให้มีความยั่งยืน และมั่นคง รวมทั้งการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมศักยภาพคนให้มีคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งของไทยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี เน้นการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทั้งในประเทศและในภูมิภาค เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทำให้อุตสาหกรรมรางในประเทศและในภูมิภาคขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบรางของประเทศจะยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยรากฐานของอุตสาหกรรมรางในประเทศที่เข้มแข็ง ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรางไทยยังมีน้อยรายและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับต่ำ นโยบายส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ (local content) ในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรางในประเทศอย่างยั่งยืนจึงเป็นปัจจัยแรกเริ่มที่สำคัญต่อความมั่นคงของระบบรางไทยในอนาคต

จากรายงานการศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมรางระยะที่ 2 พบว่า การใช้ local content ในประเทศในสัดส่วน 40% สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท การประกอบรถไฟขั้นสุดท้ายในประเทศสามารถทำให้ซื้อรถไฟในราคาถูกลงมากกว่า 2,800 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานมากกว่า 2,000 ล้านบาท และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ด้านระบบราง ในระยะยาว local content จะส่งผลอย่างสำคัญต่อการลดภาระประเทศในการพึ่งพาหรือนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติในช่วงเดินรถและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ในระยะยาว ซึ่งภาระค่า O&M มักสูงกว่ามูลค่าการก่อสร้างเริ่มต้นหลายเท่าตัว เช่น การส่งเสริมการบำรุงรักษารถไฟได้เองในประเทศจะสามารถลดภาระจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1,700 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า อว. ให้ความสำคัญกับนโยบายสร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดย อว. พร้อมนำองค์ความรู้สนับสนุนงานในอุตสาหกรรมรางไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านระบบราง ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติ ดังนั้นการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง จะเป็นการต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ จำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนระบบราง หรือ local content ซึ่งให้สัมฤทธิ์ผลต้องอาศัยการร่วมทำงานแบบสอดประสานโดยมีเป้าหมายร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมทั้งประชาสังคมในชุมชนที่เกี่ยวข้องมีลักษณะแบบสี่ประสาน (Quadruple Helix) โดยอาศัยการประสานจุดแข็งของหน่วยงานแต่ละประเภท อาทิ องค์ความรู้ต่อยอดการวิจัยพัฒนา (research & development) และการพัฒนาทักษะกำลังคน (manpower skill) ของภาคการศึกษา ความพร้อมในการสนับสนุนทางโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพทางระบบราง (National Quality Infrastructure: NQI) และการแบ่งปันทรัพยากร (infrastructure sharing) ของหน่วยงานรัฐ พื้นฐานที่แข็งแกร่งและความพร้อมในการลงทุนและการผลิตของหน่วยเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนของชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการใช้บริการรถไฟ

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากความสำคัญดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงร่วมกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 15 หน่วยงาน ร่วมแสดงพลังในการเป็นพันธมิตรสนับสนุนนโยบาย local content ระบบราง โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมกันส่งเสริมภาคเอกชนทั้งด้านมาตรฐาน ข้อบังคับ การทดสอบ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตบุคลากรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการผลิต local content ระบบราง ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบ 4 ฝ่าย (Quadruple Helix) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคม การร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบ 4 ฝ่าย ในระยะต่อไป ขยายผลสร้างผลกระทบต่อเนื่องให้แก่อุตสาหกรรมรางในประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถไฟในภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงสามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางทดแทนลดการนำเข้ารถไฟได้ทุกระบบรวมทั้งเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

"...ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยทั้งสิบห้าหน่วยงาน มีเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะร่วมมือทางวิชาการ จัดทำมาตรฐาน พัฒนาความสามารถห้องปฏิบัติการในประเทศ สนับสนุน ส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ พัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการพัฒนาด้านการวิจัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางด้านระบบรางของประเทศ ผลักดันการพัฒนาทางด้านระบบรางของประเทศประสบความสำเร็จต่อไป.." ผู้ว่าการ วว. สรุปในตอนท้าย

HTML::image( HTML::image(