ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-adjusted net leverage) ของ AIS จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 เท่า ในปี 2563 และ 1.5 เท่า ในปี 2564 จาก 1.4 เท่า ในปี 2562 บนสมมุติฐานที่ว่าบริษัทจะชำระเงินค่าคลื่นความถี่จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท โดยใช้การกู้ยืมทั้งหมด อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 2 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตได้หากอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่าระดับดังกล่าว นอกจากนี้การชำระเงินค่าคลื่นความถี่ซึ่งสามารถทยอยชำระเป็นงวดๆ ภายใน 10 ปี น่าจะช่วยลดผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทในระยะสั้น
การประมูลมีการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งทำให้ราคาคลื่นความถี่ 700MHz เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 0.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ MHz ต่อประชากร ซึ่งสูงกว่าราคาขั้นต่ำร้อยละ 95 อย่างไรก็ตามการแข่งขันในการประมูลคลื่น 5G ย่านความถี่กลาง 2.6GHz และย่านความถี่สูง 26GHz อยู่ในระดับปานกลาง โดยราคาคลื่นสูงกว่าราคาขั้นต่ำร้อยละ 5 ฟิทช์เชื่อว่าความต้องการคลื่นความถี่ 700MHz ที่สูง เป็นผลมาจากเงื่อนไขของคลื่นความถี่ 700MHz ที่มิได้กำหนดเงื่อนไขการใช้ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นความถี่ 700MHz มาใช้ในการให้บริการ 4G ได้ก่อน
ฟิทช์มองว่าการแข่งขันในการประมูลคลื่น 5G ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ที่ไม่สูงมากนัก เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากการให้บริการระบบ 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจำนวนอุปกรณ์ที่ใช้กับเครือข่ายยังไม่แพร่หลาย นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายอาจจะรอคลื่นความถี่ 3.5GHz ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการให้บริการ 5G ซึ่งคาดว่าจะมีการนำมาประมูลในอนาคต อย่างไรก็ตามยังมีความไม่แน่นอนว่าคลื่นความถี่ดังกล่าวจะสามารถนำมาประมูลได้เมื่อไหร่ เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวยังถูกใช้ในกิจการสื่อสารผ่านดาวเทียมในประเทศไทยอยู่
ฟิทช์คาดว่าการลงทุนในการก่อสร้างโครงข่าย 5G สำหรับผู้ประกอบการมือถือในประเทศไทยน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าโครงข่าย 4G ของผู้ประกอบการน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการด้านความเร็วและปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า การลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 5G น่าจะมีการแบ่งการลงทุนในเวลาหลายปี นอกจากนี้ตามเงื่อนไขการประมูลผู้ประกอบการต้องลงทุนก่อสร้างโครงข่าย 5G ให้มีความครอบคลุมอย่างร้อยละ 50 ของพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ซึ่งมีพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ภายใน 1 ปี และครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชากรในเมืองหลัก 6 เมือง (รวมถึงกรุงเทพมหานคร) ภายใน 4 ปี
ถึงแม้ว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐ ซึ่งได้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอที ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 700MHz จำนวน 2x10MHz และคลื่น 26GHz จำนวน 400MHz ตามลำดับ ฟิทช์ไม่คิดว่าบริษัททั้งสองจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการแก่รายย่อยในวงกว้าง รายที่ 4 และ 5 เนื่องจากบริษัททั้งสองมิได้มีประสบการณ์ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่รายย่อย บริษัททั้งสองน่าจะมุ่งเน้นในการให้บริการโครงข่าย 5G แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชน โดย ณ ปัจจุบัน กสท และ ทีโอที ได้มีการทำสัญญาความร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่นที่เอกชน ในการให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยอนุญาติให้ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาใช้คลื่นความถี่ 850MHz, 2.3GHz และ 2.3GHz ในการให้บริการระบบ 3G และ 4G
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit