ดร.อารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า "เอ.พี. ฮอนด้า เริ่มต้นโครงการเมืองไทยขับขี่ปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2532โดยนำหลักสูตรการเรียนการสอนจากญี่ปุ่นมาปรับใช้กับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย และได้มีการผลักดันให้โครงการนี้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ผ่านการถ่ายทอดของครูฝึกขับขี่ปลอดภัย ซึ่งมีหน้าที่ส่งมอบความรู้และวิธีการขับขี่อย่างปลอดภัยทั้งภาคทฏษฏีและปฏิบัติให้กับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ฮอนด้าผ่านทางเครือข่ายร้านผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าทั่วประเทศทั้ง Honda Wing Center และ Honda BigWing ต่อมาในปี 2537 ทางเอ.พี. ฮอนด้า ได้มีแนวคิดในการยกระดับขีดความสามารถของครูฝึก ฯ ขึ้นไปอีกขั้น จึงเป็นที่มาของการจัดการแข่งขันระหว่างครูฝึก ฯ ด้วยกันเอง ใช้ชื่อเรียกว่าการแข่งขันครูฝึกขับขี่ปลอดภัยระดับประเทศ ซึ่งการแข่งขันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมได้เห็นถึงความมุ่งมั่นจริงจังของเรา และให้ความไว้วางใจกับหลักสูตรขับขี่ปลอดภัยรวมถึงมาตรฐานครูฝึก ฯ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ล่าสุดในปีที่ผ่านมา ครูฝึก ฯ ของฮอนด้ายังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยด้วยการคว้ารางวัลจากการแข่งขันครูฝึก ฯ ระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่นได้ถึง 7 รางวัล มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพอย่างแท้จริง เรามั่นใจว่าการแข่งขันครั้งที่ 17 นี้จะเพิ่มขีดความสามารถและสร้างพัฒนาการของครูฝึก ฯ รุ่นใหม่ ๆ ทั้งจากของฮอนด้า และจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สอศ."
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า "ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันรายการนี้มาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 10 ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยยังต้องการการสร้างจิตสำนึกและทักษะของการขับขี่ และการใช้รถใช้ถนนอีกมาก การแข่งขันจะทำให้ครูฝึก ฯ ในการดูแลของ สอศ. มีขีดความสามารถและสามารถส่งต่อความรู้ให้กับนักเรียนอาชีวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
สำหรับการแข่งขันทักษะครูฝึกขับขี่ปลอดภัยระดับประเทศครั้งที่ 17 นี้ จัดขึ้นที่ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้ากรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 183 คน ประกอบด้วยครูฝึกจากศูนย์ Honda Wing Center 104 คน, ครูฝึกจาก Honda BigWing 33 คน และครูฝึกจาก สอศ. 46 คน โดยการแข่งขันจะประกอบไปด้วย 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีที่ 1. การเบรก (Braking) ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเบรกได้มั่นคงในระยะเบรกสั้นที่สุด เมื่อขับขี่ด้วยความเร็วที่กำหนด สถานีที่ 2. ความคล่องตัว (Slalom) ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องขับขี่ไปยังทิศทางที่กำหนดจนถึงเส้นชัย โดยไม่ผิดพลาดและใช้เวลาน้อยที่สุด สถานีที่ 3. การขับขี่ทรงตัวบนทางแคบ (Narrow Plank) ผู้เข้าแข่งขันต้องขับขี่บนเส้นทางแคบด้วยวิธีการที่ถูกต้องและทรงตัวได้มั่นคงที่สุด สถานีที่ 4. ความแม่นยำในการเลี้ยวแบบเลข 8 (Figure 8) ผู้เข้าแข่งขันต้องแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเข้าโค้งต่อเนื่องแบบเลข 8 และสถานีที่ 5. การสอบข้อเขียน ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 จะได้ถ้วยเกียรติยศเป็นรางวัล โดยการแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า กรุงเทพ ฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้
ผู้ที่สนใจกิจกรรมฮอนด้าขับขี่ปลอดภัยสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์รถจักรยานยนต์ฮอนด้า www.aphonda.co.th/hondasafetythailand
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit