ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม'ส้มจุกจะนะ’ ส่งต่อมรดกชุมชนสู่ลูกหลานเพื่อความยั่งยืน

26 Feb 2020
ปัญหาราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำ เกิดขึ้นกับการเพาะปลูกแทบทุกชนิด สะท้อนถึงความล้มเหลวของการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวซึ่งดำเนินมาอย่างยาวนาน เมื่อผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมากราคาก็ย่อมตกต่ำลงตามกลไกตลาด
ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม'ส้มจุกจะนะ’ ส่งต่อมรดกชุมชนสู่ลูกหลานเพื่อความยั่งยืน

พื้นที่ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ก็ตกอยู่ใต้กระแสการส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะยางพารา วิถีชีวิตการเกษตรผสมผสานแบบดั้งเดิมค่อย ๆ สูญหายไป ยิ่งนานวันปัญหาใหม่ ๆ ก็ เกิดขึ้น โดยเฉพาะดินที่เสื่อมโทรมลงจนต้องใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิต ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และเมื่อเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ภาระหนี้สินก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เมื่อประสบภาวะวิกฤติ ผู้คนในชุมชนก็เริ่มกลับมาทบทวนวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง มองถึงฐานราก ภูมิปัญญาความรู้ และทรัพยากรของชุมชน จนเห็น "ช่องทาง" และ "โอกาส" ในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชน

"ช่วงปี 2555 มีการรวมกลุ่มกันจัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชน สร้างกติกาเพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีคณะทำงานจากหลายภาคส่วนมาร่วมหารือ จนเกิดเป็นธรรมนูญสุขภาพชุมชนได้สำเร็จ" อะหมัด หลีขาหรี หรือ ครูอะหมัด รองผู้อำนวยการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ แกนนำสำคัญของชาวตำบลแค เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการพลิกฟื้นวิถีชีวิต สร้างแนวทางใหม่เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของชุมชน เมื่อผลักดันกติกาข้อตกลงร่วมกันได้สำเร็จ ก็เริ่มมองหาโอกาสในการสร้างรายได้และลดหนี้สิน

ยะมะหลุดดิน ราชชำรอง ผู้อาวุโสในชุมชนที่ร่วมเป็นคณะทำงาน บอกเล่าถึงขั้นตอนสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือการสำรวจชุมชนในทุกด้าน เพื่อแสวงหาต้นทุนที่มีอยู่

"การทำให้ขุมชนน่าอยู่เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคณะทำงานมาร่วมโครงการ จากนั้นก็ต้องหาความรู้ ต้องรู้ข้อมูลของชุมชน ว่า มีทุนที่ดีคืออะไร มีปัญหาเรื่องอะไร เมื่อสำรวจความคิดเห็นจากหลายกลุ่ม จากเยาวชน จากกลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อเขาจะได้ดูว่า อดีตเราเคยเป็นมาอย่างไร พื้นฐานของเราแบบไหน ก่อนที่จะมุ่งไปข้างหน้า คิดว่าเรามีต้นทุนเรื่องอะไรที่ควรจะพัฒนา ก็มีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ 'ส้มจุก' ซึ่งเคยเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของอำเภอจะนะ"

แม้การส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้จะมีทางเลือกหลากหลาย แต่ในมุมมองของผู้อาวุโสยะมะหลุดดินเห็นว่า ส้มจุกคือสมบัติล้ำค่าของอำเภอจะนะ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งยังไม่มีที่ใดเทียบได้

"ส้มจุกจะนะไม่ต้องไปขึ้นแบรนด์เนม เพราะทั้งรสชาติและกลิ่นจะเป็นแบบเฉพาะของมันเอง ปลูกที่อื่นยังไงก็ไม่เหมือน ราคาขายปัจจุบัน 1 กิโลกรัม ประมาณ 4 ลูก ราคา 200 บาท มีเท่าไหร่ก็ขายหมด"

ราคาส้มจุกที่ถือว่าค่อนข้างสูงหากเทียบกับผลไม้อื่น ๆ ใช่เพียงแค่รสชาติและกลิ่นที่หวานหอมอร่อยเท่านั้น แต่ปัจจัยสำคัญคือ ต้นส้มจุกในพื้นที่ตำบลแคเหลืออยู่น้อยมาก มีเกษตรกรผู้เพาะปลูกเพียง 20 ราย เนื้อที่เพาะปลูกทั้งตำบลไม่เกิน 30 ไร่ ความต้องการของผู้บริโภคจึงมีมาก ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย ถึงขั้นต้องสั่งจองล่วงหน้ากันข้ามฤดูกาลกันเลยทีเดียว

เมื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันได้แล้วก็มีการรวมกลุ่มกันเป็น 'วิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ' ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

อาหมัด หนิเหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแค บอกว่า เมื่อปี 2559 เคยส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกส้มจุกด้วยการแจกกิ่งพันธ์ส้มจุกบ้านละ 3 ต้น โดยมีข้อแม้คือ หากได้ผลจะขอเมล็ดส้มจุกมาเพาะขยายพันธ์ต่อไป เพราะส้มจุกเป็นผลไม้ที่มีเมล็ดน้อยมาก เหตุที่ผลที่ทำเช่นนี้เพราะอยากให้ส้มจุกกลับมาเป็นพืชประจำถิ่นอีกครั้งเช่นในอดีต

"ปัจจุบันส้มจุกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่าใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีการปลูกน้อยลง ส่วนที่ปลูกกันอยู่ก็มีบางส่วนที่กลายพันธ์จากปัญหาผลกระทบการใช้สารเคมี"

ปัญหาส้มจุกกลายพันธ์นั้นผู้อาวุโสอย่างยะมาหลุดดินบอกว่า การใช้สารเคมีในการเกษตร ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม ทำให้การขยายพันธ์ในระยะหลังไม่ได้ผลมากนัก มีการระดมสมอง แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากหลายๆ ฝ่ายในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จนพบแนวทางทดลอง โดยนำดินบริเวณแนวรั้ว ซึ่งไม่ค่อยมีการเพาะปลูกพืชอะไรทำให้ค่อนข้างปลอดจากสารเคมีบ้านละจำนวน 2 ถัง นำมารวมกันในพื้นที่ซึ่งเตรียมไว้ ซึ่งเมื่อปลูกส้มจุกจำนวน 40 ต้นก็พบว่าได้ผลดี

นอกจากนี้ประสบการณ์ของผู้อาวุโสในชุมชนยังพบว่า การปลูกพืชอื่นๆ ระหว่างต้นส้มจุก หรือการปลูกแบบผสมผสานพืชหลายๆ ชนิด จะช่วยให้ส้มจุกได้ผลดียิ่งขึ้น และการที่ส้มจุกไม่ชอบสารเคมี พืชอื่นๆ ที่ปลูกในสวนส้มจุก จึงเป็นพืชเกษตรอินทรีย์ที่สะอาดและปลอดภัยตามไปด้วย

"ส้มจุกไม่ชอบสารเคมี ส่งผลดีต่อพืชผักอื่นๆ อนาคตเราจะเป็นแหล่งเกษตรอินทรีย์ ในทางวิชาการบอกว่าการฟื้นฟูดินต้องอาศัยจากสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ใต้ดิน ถ้าเราไม่ใช้สารเคมี ไส้เดือนมันก็มาอยู่ของมันเอง ปรัชญาของในหลวง(ร.9) นั่นแหละ เรื่องการฟื้นฟูดิน ถ้าดินดีพืชก็ดีไปด้วย" ยะมะหลุดดินอธิบายให้ฟังอย่างเปี่ยมความหวัง

ความพยายามหาทางออกดังกล่าว ทำให้คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมสร้างความรู้เพื่อแก้ปัญหา แต่สิ่งที่พวกเขากังวลก็คือ ทำอย่างไรให้อาชีพการทำสวนส้มจุกมีความยั่งยืนเพื่อเป็นโอกาสให้กับลูกหลานสืบต่อไป

"ตอนนี้ส้มจุกกิโลละ 200 บาท มีคนรุ่นใหม่ที่เขาฟื้นฟูทำสวนส้มจุก ปรากฏว่าอย่างน้อยๆ เขามีรายได้ปีละแสน แต่จะทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน ต่อไปการทำสวนส้มจุกไม่ใช่เพราะว่าอยากทำ แต่ต้องทำด้วยความรู้ ทักษะ และต้องรู้จักการบริหารจัดการ สาเหตุที่ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะมีแต่ความฝัน แต่ความสามารถในการจัดการไม่ค่อยมี ฝันอยากจะสร้างส้มจุกให้ยั่งยืน แต่ว่าการจัดการยังไม่เกิด" ยะมะหลุดดิน มองถึงอนาคตของเกษตรกรผู้เพาะปลูกส้มจุกเพื่อสร้างความยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องรวบรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ พัฒนาเป็นหลักสูตรของชุมชน คณะทำงานในชุมชนจึงร่วมกันทำโครงการพัฒนาทักษะอาชีพการขยายพันธุ์และดูแลสวนส้มจุก ชุมชนบ้านแคเหนือ ต.แค อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือ ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ครูอะหมัด หลีขาหรี ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า ที่ผ่านมาความรู้ในหลายๆ ด้านหายไปกับกาลเวลา จึงต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกชุมชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีความสำคัญมากคือการพัฒนาและสร้างหลักสูตร ซึ่งจะประกอบด้วยเนื้อหาในหลายๆ ส่วน ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมาของส้มจุกจะนะ การคัดเลือกพันธุ์ การปลูก การขยายพันธุ์ การดูแลรักษา การให้น้ำและใส่ปุ๋ย การเก็บผลผลิต การรักษาผลผลิต การจำหน่ายและการตลาด การจัดทำบัญชีครัวเรือน และการออม การบริหารจัดการสวนส้มจุก และการใช้สื่อออนไลน์ในการส่งเสริมการขายสินค้า ซึ่งจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่น เทคโนโลยีวิชาการสมัยใหม่ และองค์ความรู้อื่นๆ ที่จำเป็น

"เป้าหมายที่เราขอทำโครงการนี้คือ ได้หลักสูตรของชุมชนที่จะส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ส่วนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่เข้าร่วมโครงการและผ่านการประเมิน ก็จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสวนส้มจุกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส้มจุกจะนะ และทางกลุ่มจะจัดหาสวนที่ต้องการผู้ดูแลให้ เพื่อให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสเหล่านี้มีงานและรายได้อย่างต่อเนื่อง ตามวัตถุประสงค์ของกสศ. หรือหากผู้เข้าร่วมโครงการต้องการปลูก ขยายพันธุ์และเป็นเจ้าของสวนส้มจุกด้วยตนเอง ก็จะมีกองทุนเงินยืมปลอดดอกเบี้ยสำหรับนำไปลงทุน " ครูอะหมัด บอกถึงเป้าหมายที่ตั้งความหวังไว้ พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาความรู้การขยายพันธ์ส้มจุก สำนักงานเกษตรอำเภอจะนะ ก็เข้ามาสนับสนุนในการยื่นเรื่องขอรับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indications) ให้กับส้มจุกจะนะอีกด้วย

อาซราน เต๊ะสอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ อำเภอจะนะ บอกว่า แนวทางสนับสนุนการพัฒนาอาชีพของกสศ.เป็นเรื่องที่ดี โดยเน้นที่การสร้างความรู้เพื่อพัฒนาคน มากกว่ามุ่งการพัฒนาเฉพาะตัวผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์

"ผลิตภัณฑ์มีโอกาสที่จะหายไป แต่ถ้าสร้างคนคนจะอยู่กับชุมชน เป็นความรู้สืบทอดรุ่นต่อรุ่น ผลิตภัณฑ์หายไปแต่คนสามารถถ่ายทอดและสืบทอดได้ ซึ่งสำนักงานเกษตรอ.จะนะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และให้ทีมงานเข้ามาสนับสนุนร่วมขับเคลื่อนเป็นคณะทำงาน"

สำหรับการยื่นขอรับรอง GI นั้นปัจจุบันกำลังรอการรับรอง ซึ่งสิทธิที่ได้รับนี้จะเป็นของอ.จะนะ นอกจากนี้มีแนวคิดที่จะทำให้เรื่องราว หรือ Story ของส้มจุกจะนะเป็นที่รับรู้แพร่หลายเพื่อการทำตลาดในยุคใหม่

"คนจีนนิยมนำส้มจุกไปไหว้เจ้า มีความเชื่อว่าจุกด้านบนผลส้มรูปทรงคล้ายถุงทอง ซึ่งหมายถึงความรุ่งเรือง จึงเตรียมที่จะทำส้มจุกแบบพรีเมี่ยม จำนวน 8 ผล บรรจุในกล่อง 8 เหลี่ยม ซึ่งเลข 8 ถือเป็นเลขมงคล โดยทำขายในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อเป็นของฝาก ของขวัญ โดยจะจำนวนราคาชุดละ 1,000 บาท" เช่นเดียวกันนายก อบต.แค ก็มองว่า โครงการนี้ของกสศ.เป็นการเกื้อกูลต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้มาร่วมก็เพราะอยากทำ ไม่ใช่การเชิญแกมบังคับให้มาอบรมอาชีพ

"เดิมเขาอยากปลูกส้มจุก แต่ทำแล้วก็เจอปัญหา ปลูกแล้วตาย แต่โครงการนี้มาปลุกให้มาร่วมกัน ช่วยกันหาทางแก้ เขาจึงมาร่วมเพราะอยากมาจริงๆ มาแล้วได้ความรู้ที่จะเป็นของตัวเอง เป็นความรักในอาชีพของชุมชน"

ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคิรีขันธ์ อนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้มีจุดเด่นหลายส่วน ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น มีผลผลิตที่เป็นพืชประจำถิ่น เป็นวิสาหกิจชุมชน ตรงกับเป้าหมายของกสศ. ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานนอกระบบและผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ

"ผมเชื่อมั่นว่า การแก้วิกฤติการณ์ที่ดีที่สุดก็คือจะต้องรวมกัน เป็นความรู้จากวิชาการ จากการเกษตร ความรู้จากประสบการณ์ อาจารย์ประเวศ (นพ.ประเวศ วะสี) บอกว่าความรู้จากวิชาการเป็นแหล่งเรียนรู้ แต่ความรู้จากประสบการณ์นั้นเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นทั้งปัญญาและความรู้ต้องมาปนกัน และเราก็มีเป้าหมายคือผู้ด้อยโอกาส เป็นโครงการที่น่าชื่นชม ต้องขอขอบคุณทางเกษตรอำเภอจะนะด้วยที่เห็นคุณค่าของส้มจุก และภูมิปัญญาที่นับวันจะหมดแรงลงเรื่อยๆ ต้องถ่ายทอดให้เด็กๆ อีกเพื่อที่จะผดุงให้เด็ก ๆ เหล่านี้สืบทอดต่อไป เป็นโครงการที่น่าสนใจมากและให้กำลังใจมาก"

ประสบการณ์ของตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า 'ฐานทุนชุมชน' คือแหล่งเรียนรู้และการประกอบอาชีพที่สำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นการพัฒนาทักษะอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานจึงเป็นโอกาสดีที่ชุมชนจะได้แรงงานที่มีทักษะและคุณภาพตรงตามความต้องการมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะได้สร้างเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันวางรากฐานและแนวทาง เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนต่อไป

ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม'ส้มจุกจะนะ’ ส่งต่อมรดกชุมชนสู่ลูกหลานเพื่อความยั่งยืน ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม'ส้มจุกจะนะ’ ส่งต่อมรดกชุมชนสู่ลูกหลานเพื่อความยั่งยืน ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิม'ส้มจุกจะนะ’ ส่งต่อมรดกชุมชนสู่ลูกหลานเพื่อความยั่งยืน