ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สทนช. ได้ลงพื้นที่ดำเนินโครงการจิตอาสาฟื้นฟูป่าต้นน้ำ "ปรับปรุงฝาย คลายแล้ง สร้างแหล่งน้ำให้ชุมชน" ณ บ้านกล้อหล่อเบลอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้กับพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยทุกคนได้เข้าถึงแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ที่กำหนดให้จัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชน ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน หรือทุกครัวเรือน
"สทนช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้กับดินและผืนป่า และได้นำแนวคิดของการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือฝายต้นน้ำ (CHECK DAM) มาดำเนินโครงการจิตอาสาฟื้นฟูป่าต้นน้ำในครั้งนี้ เมื่อป่าชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ก็จะกลับคืนมา โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ กิจการร่วมค้า NCRECและสมาคมยี่สิบสองนอ รวมทั้งภาคประชาชน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยโป่ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ตำบลแม่ตื่น ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่บ้านกล้อหล่อเบลอ ร่วมใจร่วมแรงในการดำเนินโครงการครั้งนี้ โดยนอกจากการสร้างฝาย เรายังได้ร่วมกันปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำที่เสื่อมโทรม การจัดวางถังพักน้ำขนาดใหญ่ และติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน ก่อนปล่อยเข้าสู่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาดถูกหลักอนามัย ตลอดจนน้ำใช้เพื่อทำการเกษตรในครัวเรือนได้ตลอดทั้งปีด้วย"
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและการป้องกันการพังทลายของดิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและอนุรักษ์น้ำให้เกิดความยั่งยืน อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรของ สทนช. มีจิตสาธารณะในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ซึ่ง สทนช.ได้ดำเนินการโครงการจิตอาสามาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ใน 3 พื้นที่ โดยครั้งแรก เป็นการมอบถังเก็บน้ำพร้อมระบบกรองน้ำ และอุปกรณ์เครื่องเล่น เสริมพัฒนาการให้กับเด็กนักเรียน ณ โรงเรียนวัดใหม่ดงสัก อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และครั้งที่สอง เป็นการก่อสร้างบ่อเก็บน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำให้กับโรงเรียนและชุมชน บ้านเลอะตอ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทุกโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี และในโอกาสต่อไปจะได้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
อนึ่ง "บ้านกล้อหล่อเบลอ" เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่กลางหุบเขารอยต่อของพื้นที่จังหวัดตากกับจังหวัดเชียงใหม่ มีประชากร 30 ครัวเรือน จำนวน 163 คน มีโรงเรียน 1 แห่ง นักเรียน 25 คน ที่ผ่านมา มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งซ้ำซาก เนื่องจากพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายและสภาพป่าเสื่อมโทรม โดยชาวบ้านจะใช้น้ำจากฝายต้นน้ำ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1กิโลเมตร ที่ในช่วงแล้งจะมีน้ำต้นทุนใช้ได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้มีความพยายามในการต่อท่อส่งน้ำจากฝายต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากหมู่บ้านราว 5-6 กิโลเมตร มายังถังพักน้ำเพื่อใช้ในหมู่บ้าน แต่เนื่องจากท่อมีขนาดเล็กและน้ำที่ไหลมาตามแรงโน้มถ่วงมีแรงดันมาก ทำให้ท่อแตก รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและชาวบ้านขาดหลักวิชาการทางวิศวกรรมที่ถูกต้องในการซ่อมแซม ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ จึงต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำของหมู่บ้านอื่นทดแทน ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ
สำหรับการดำเนินโครงการจิตอาสาฟื้นฟูป่าต้นน้ำในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.การสร้างฝายต้นน้ำหรือฝายชะลอน้ำ จำนวน 2 แห่ง โดยฝายแห่งที่ 1 สร้างฝายกึ่งถาวร ในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล เพื่อใช้ชะลอน้ำและกักเก็บน้ำบางส่วน โดยจะใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำหลักของหมู่บ้านกล้อหล่อเบลอ ซึ่งจุดที่สร้างฝายอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ประมาณ 5-6 กิโลเมตร ก่อสร้างในรูปแบบของฝายประชาอาสา ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมก่อสร้างและทำแนวกันไฟป่าควบคู่ไปด้วย ส่วนฝายแห่งที่ 2 สร้างฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยใช้เป็นฝายสำรองในการใช้น้ำได้ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มระยะเวลาการใช้น้ำได้อีกพอสมควร 2.การวางระบบท่อส่งน้ำและถังเก็บน้ำ เป็นการวางแนวท่อส่งน้ำ PVC ขนาด 2 นิ้ว จากฝายต้นน้ำทั้ง 2 แห่ง เพื่อมายังถังเก็บน้ำ ขนาด 2,000 ลิตร ทั้งหมด 6 ถัง ที่สร้างขึ้นมาใหม่ และถังคอนกรีตเดิมที่มีอยู่แล้วขนาด 6,000 ลิตร อีก 1 ถัง ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้น้ำของทั้งหมู่บ้าน จากนั้นได้ทำการต่อท่อ PVC ขนาด 1 นิ้ว ส่งไปยังโรงเรียนและชุมชนอีกด้วย เพื่อใช้อุปโภคบริโภค และยังต่อท่อส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงจากถังพัก ไปยังถังเก็บน้ำ ขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 1 ถัง เพื่อใช้พักน้ำก่อนเข้าเครื่องกรองน้ำ และยังติดตั้งถังเก็บขนาด 500 ลิตร อีกจำนวน 1 ถัง เพื่อเก็บน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว ให้ชาวบ้านได้ดื่มน้ำที่สะอาด และ 3.การติดตั้งเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนประชากรของหมู่บ้าน เป็นเครื่องกรองน้ำคุณภาพสูงได้มาตรฐาน มีความสะอาด ดูแลรักษาง่าย โดยทำการติดตั้งบริเวณอาคารเอนกประสงค์ของหมู่บ้าน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit