เวทีเสวนาสาธารณะ Citizen's Senses of The City ชีวิตคนเมืองในมลภาวะ "อากาศ แสง เสียง" จัดโดย โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ภายใต้ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง และ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านมลภาวะเมือง ซึ่งเคยทำการวิจัยศึกษาและเก็บข้อมูลร่วมกับภาคพลเมือง แลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจท่ามกลางวิกฤตมลภาวะเมือง งานเสวนาได้รับความสนใจจากภาคพลเมืองกว่า 100 คน เต็มห้องโซเชียลแอมฟิเธียเทอร์ สามย่านโคออป ชั้น 2 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์
รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ หัวหน้าโครงการวิจัยคนไทย 4.0 : อนาคตคนเมืองในประเทศไทย และรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า บทบาทของภาคพลเมืองในสังคมฐานความรู้ ที่สามารถเข้าถึงและผลิตข้อมูลได้เอง โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ ก่อให้เกิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายของรัฐ การได้สร้างองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และภาคพลเมือง ยังทำให้สังคมพ้นกับดักปัญญาปานกลาง นอกจากนี้ เมื่อพลเมืองมีบทบาทเป็นผู้ผลิตข้อมูล ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามกับนโยบายรัฐอีกด้วย
ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขสถานการณ์มลภาวะทางอากาศ พร้อมเสนอแนะทางออกด้วยการบังคับใช้กฎหมายและจัดตั้ง "สำนักพิทักษ์สิ่งแวดล้อม" ทำหน้าที่รับผิดชอบปัญหามลภาวะโดยตรง พร้อมยกโปรแกรม AirVisual เป็นตัวอย่างแนวทางส่งเสริมการสร้างฐานข้อมูลเปิดเรื่องค่าคุณภาพอากาศ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคพลเมืองและกลไกการกระจายอำนาจ ทั้งนี้ พลเมืองจะทำหน้าที่คล้ายผู้สื่อข่าวที่คอยรายงานสถานการณ์อากาศใกล้ตัว แล้วส่งต่อไปยังแพลตฟอร์มกลางรวบรวมเป็นฐานข้อมูลเปิดและนำเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งภาครัฐไทยควรนำมาเป็นต้นแบบในการแจ้งเตือนสถานการณ์ โดยเพิ่มเติมเรื่องความเที่ยงตรงและแม่นยำ พร้อมส่งเสริมความรู้ภาคพลเมือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่ามลภาวะแสงก่อผลกระทบหลายด้าน เช่น กระทบต่อความปลอดภัยเมื่อสัญจรในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะในกลุ่มคนสูงอายุ แสงที่ล่วงล้ำเข้ามาในอาคารรบกวนสุขภาวะการนอนสร้างความผิดปกติของฮอร์โมนร่างกาย ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ความเครียด และโรคต่างๆ นอกจากนี้ ยังกระทบต่อระบบนิเวศของสัตว์กลางคืน และสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงโคมไฟกระจายแสงหรือหลีกเลี่ยงการใช้ไฟเกินความจำเป็น ทั้งนี้ คนเมืองสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันมลภาวะแสงได้ ด้วยการตระหนักถึงบทบาทของตนเองทั้งในฐานะผู้ผลิตแสงและผู้รับแสง นอกจากนี้ ภาคพลเมืองยังมีส่วนสร้างฐานข้อมูลเปิด อันนำไปสู่การสร้างนโยบายแก้ไขปัญหามลภาวะแสงต่อไป
อาจารย์ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า มลภาวะเสียงในเมืองส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากการจราจรและสิ่งแวดล้อมในเมือง นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าปัญหามลภาวะเสียงยังเกิดจากการใช้หูฟังอย่างไม่ถูกวิธี พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ประสบภาวะบกพร่องทางการได้ยินสูงสุด ภาวะดังกล่าวเกิดจากเซลล์ขนด้านการได้ยินถูกทำลายอย่างถาวร ร่างกายไม่สามารถสร้างใหม่ชดเชยได้ นักวิชาการยังชี้ว่าควรส่งเสริมกลไกกระจายอำนาจ และให้ภาคพลเมืองทราบว่าท้องถิ่นมีอำนาจในการเพิ่มเพิกถอนใบอนุญาตผู้สร้างมลภาวะด้านเสียง นอกจากนี้ ควรมีแพลตฟอร์มที่จะสามารถแบ่งปันสถานการณ์เรื่องเสียงในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะสามารถรับมือแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ UddC-CEUS ฝ่าย Urban Intelligence นำเสนอผลการศึกษาโครงการทดลองพัฒนาแผนที่มลพิษทางเสียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ โครงการแผนที่เสียง ซึ่ง UddC-CEUS ทำการศึกษาร่วมกับ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ โดยใช้วิทยาศาสตร์เปิดตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง เป็นเครื่องมือศึกษาเรื่องเสียงในพื้นที่เขตเมืองชั้นในของ กทม. เพื่อรวบรวมและจัดสร้างฐานข้อมูลเปิดสู่การกำหนดนโยบายและสร้างนวัตกรรม พร้อมแนะนำแอปพลิเคชันที่ทดลองให้ภาคพลเมืองสามารถติดตามสถานการณ์เสียงในเมืองได้ด้วยตัวเอง เช่น NoiseTube ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการผลิตและจัดเก็บข้อมูลโดยพลเมือง
ทั้งนี้ ก่อนการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง และหัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า มลภาวะเมืองกำลังเป็นปัญหาสำคัญและกระทบต่อคุณภาพชีวิตคนเมืองในหลากหลายมิติ จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ในภาคพลเมือง อันจะนำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในอนาคต การเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความตระหนักรู้ ผ่านการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากงานวิจัยในแต่ละด้าน นับว่าเป็นตัวอย่างของกระบวนการสำคัญ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการคนเมือง 4.0 ที่มุ่งส่งเสริมให้สร้างองค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์ข้อมูลเมือง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ในฐานะหัวหน้าโครงการหน่วยสังเกตการณ์และขับเคลื่อนเมือง (Urban Observatory and Engagement: UOE) กล่าวว่า โครงการ UOE ภายใต้โครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ต้องการได้ข้อมูลจากการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง เพื่อใช้เป็นทิศทางกำหนดนโยบายสาธารณะ ดำเนินงานภายใต้ 3 ภารกิจหลัก คือ การสร้างฐานข้อมูลเปิดเรื่องเมืองผ่านเว็บไซต์ www.theurbanis.com ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาระยะที่ 2 เป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีภารกิจส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองทั้งในระดับย่านและเมือง เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ "นักสำรวจเมือง" ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯและจังหวัดเชียงใหม่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ "ปัก เปลี่ยน เมือง" เรื่องพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งภารกิจในการผลักดันข้อมูลจากการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบาย
ทั้งนี้ จากวิกฤตมลภาวะในเมือง "อากาศ แสง เสียง" ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ได้เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ UddC-CEUS ร่วมกับโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 และภาคีเครือข่าย กำหนดจัดกิจกรรม Bangkok Hackathon 2020: Greener Bangkok เปิดโอกาสให้ภาคพลเมืองที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ร่วมระดมแนวคิดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองของกรุงเทพฯ ทั้งรูปแบบนโยบายสาธารณะ การแก้ไขกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ หรือการออกแบบพื้นที่สาธารณะต้นแบบ โดยมีโจทย์สำคัญคือการใช้ประโยชน์ที่ดินของภาครัฐสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit