“ประภัตร” รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ หารือทุกภาคส่วนถึงแนวทางป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้มีมาตรฐานการเลี้ยงสุกรระดับสากล

29 Aug 2019
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคที่กำลังเกิดการระบาดในหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวในประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ได้มีแผนเตรียมความพร้อมรับมือ มีระยะเวลาการดำเนินการ 3 ระยะ 8 มาตรการ (พ.ศ. 2562 - 2564)
“ประภัตร” รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ หารือทุกภาคส่วนถึงแนวทางป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้มีมาตรฐานการเลี้ยงสุกรระดับสากล

ด้าน นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในเรื่องมาตรการควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ อาจารย์ รวมถึงผู้เลี้ยงทั้งรายใหญ่และรายย่อย ร่วมกันระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการป้องกันโรคดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ของโรคนี้ที่เข้ามาสู่ทวีปเอเชีย โดยเข้าสู่ประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2561 หลังจากนั้นได้ระบาดสู่ประเทศอื่น ๆ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า ตามลำดับ จึงถือเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยมีมาตรการที่สามารถทำให้ประเทศรอดพ้นจากโรคดังกล่าวได้ จะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากประเทศไทยมีการเลี้ยงสุกรประมาณ 20 กว่าล้านตัว มูลค่าประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาท การป้องกันไม่ให้โรคเข้ามาในประเทศจะได้ประโยชน์ในเรื่องเศษฐกิจ รวมทั้งด้านสังคมด้วย แม้เราเน้นย้ำว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรไม่ติดต่อสู่คน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ มีมาตรการที่กำลังดำเนินการคือการควบคุมเข้มงวดบริเวณชายแดน โดยมีด่านระหว่างประเทศที่ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวด ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายประภัตร โพธสุธน) ได้มีการเน้นย้ำในเรื่องต่าง ๆ คือ 1) ได้สั่งการให้ด่านมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น โดยจะเพิ่มอัตรากำลังคนเพื่อเฝ้าระวัง 2) หวังยกระดับการเลี้ยงสุกรของเกษตรรายย่อย ประมาณ 200,000 กว่ารายทั่วประเทศ หวังยกระดับเป็นฟาร์มที่มีมาตรฐาน (Good Farm Management) ซึ่งระบบนี้จะต้องสามารถควบคุม/ป้องกันโรคได้ เนื้อสัตว์ที่ออกมาจากฟาร์มจะต้องมีความปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามหลักสากล โดยภาครัฐพร้อมให้การสนับสนุนสำหรับในด้านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จะร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติไปดำเนินการช่วยเหลือการควบคุมความเสี่ยงให้โรคนี้ไม่เข้ามาในประเทศไทย จึงอยากสร้างความเชื่อมมั่นว่าจะสามารถควบคุมการเกิดโรคดังกล่าวได้อย่างแน่นอน

HTML::image(