นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้น อีกทั้งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า วันที่ 29 ส.ค. – 1 ก.ย. 62 ฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ เริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน จากนั้นภาคเหนือและภาคอื่นๆ จะมีผลกระทบในระยะต่อไป ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพายุระดับ 3 (โซนร้อน) "โพดุล" ที่เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ทำให้มีฝนตกมากขึ้น ทำให้จังหวัดที่ประสบภัยแล้งมานานมีสัญญานที่ดีขึ้น อาทิ โคราช สุรินทร์ บุรีรัมย์ เป็นต้น มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค ได้เพียงพอ นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมชลประทานจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในทุกเขื่อน เพื่อวางแผนจัดการน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเพราะภัยธรรมชาติต้องวางแผนคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อลดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เพื่อประชาชนจะมีน้ำอุปโภค บริโภคไม่ขาด ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตรต้องรอดูปลายฤดูว่ามีปริมาณฝนตกมากน้อยแค่ไหน หากมีน้อยจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและขอความร่วมมือเพาะปลูกพืชบางชนิด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะเข้าไปดูแลและช่วยแนะนำ ทั้งนี้ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลัน กรมชลประทานจึงร่วมกับจังหวัดในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกให้ไวที่สุด อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือประชาชนขอให้อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ด้วย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า สำหรับ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงต.โคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เกิดจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง สำหรับเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่อำเภอเมืองอุดรธานี และส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรต่างๆ สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 135.57 ล้าน ลบ.ม. มีระบบคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ฝั่งละ 1 สาย สำหรับใช้ส่งน้ำเพื่อการอุปโภคและการเกษตรอีกทั้งได้ให้กรมชลประทานเดินหน้าโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้มีมากขึ้นในพื้นที่ และบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เพียงพอต่อความต้องการของราษฎรในพื้นที่ โดยเน้นให้ทำงานเชิงรุก บูรณาการการทำงานร่วมกัน ยึดหลักบำบัดทุกข์บำรุงสุขบรรเทาปัญหาให้ราษฎรเป็นหลัก อีกทั้งหวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์น้ำของจังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง มีปริมาณน้ำ 44 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 37.41 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 17 แห่ง มีปริมาณน้ำ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 69 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 24 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่าง สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนห้วยหลวง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 ช่วงระหว่างเดือน พ.ย. 62 ถึง เดือนเม.ย. 63 ประมาณ 28 ล้าน ลบ.ม. ได้จัดทำแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 62/63 โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุบโภคบริโภคประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ได้มีแผนสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนกรกฎาคม 63 ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร
ดร.ทองเปลว กล่าวต่อว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ให้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย กำหนดแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 9 ปี (ตั้งแต่ปี 2561 – 2569) ในวงเงินทั้งสิน 21,000 ล้านบาท โดยโครงการประกอบไปด้วย สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง มีอัตราการสูบน้ำรวม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พนังกั้นน้ำความยาว 47.02 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา จำนวน 12 แห่ง ประตูระบายน้ำในลำห้วยหลวง จำนวน 3 แห่ง ระบบกระจายน้ำในพื้นที่กว่า 315,195 ไร่ ระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ (Smart Flood Control System) หากดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ได้จากเดิม 90,000 ไร่ ลดลงเป็น 54,390 ไร่ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งโดยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนกว่า 245.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน 315,195 ไร่ และในฤดูแล้ง 250,000 ไร่ และส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ราษฎรกว่า 29,835 ครัวเรือน 284 หมู่บ้าน 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด
ทั้งนี้ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานภายใต้โครงการดังกล่าว ดังนี้ สถานีสูบน้ำและอาคารผลการดำเนินงานร้อยละ 1.86 ของแผนงาน ประตูระบายน้ำห้วยปากโพง ผลการดำเนินงานร้อยละ 44.32 ของแผนงาน ประตูระบายน้ำหนองผักไหมล่าง ผลการดำเนินงานร้อยละ 45.32 ของแผนงาน และพนังกั้นน้ำบ้านท่าแสนสุข ผลการดำเนินงานร้อยละ 90.50 ของแผนงาน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit