สินเชื่ออ่อนแรงลงในเดือนก.ค. 2562 ตามการชำระคืนหนี้ภาคธุรกิจ ขณะที่แรงส่งสินเชื่อรายย่อยชะลอลง

26 Aug 2019
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
  • สินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย ยังคงชะลอตัวลงเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ตามภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อธุรกิจน่าจะยังถูกกดดันจากการชำระคืนนี้ ประกอบกับมีสัญญาณอ่อนแรงลง ทั้งสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว และสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนทั้งสำหรับธุรกิจในประเทศ และธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวโยงกับการส่งออก การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยแม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็เป็นอัตราที่ชะลอลงกว่าในช่วงหลายเดือนก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สอดคล้องกับยอดโอนบ้าน และยอดขายรถยนต์ในประเทศ ที่เร่งตัวไปมากแล้วในช่วงต้นปี

สัญญาณชะลอตัวของสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยดังกล่าว กดดันภาพรวมสินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 2562 ให้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียง 2,920 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 3.84% YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน ส่งผลทำให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียง 1.00% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561

  • ภาพรวมเงินฝากของธ.พ. 14 แห่ง กลับมาเพิ่มขึ้น 1.26 แสนล้านบาท (+0.99% MoM) ในเดือน ก.ค. 2562 นำโดย เงินฝากของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางบางแห่ง โดยบางส่วนเป็นเงินฝากนิติบุคคลจากลูกค้าธุรกิจของธนาคารนั้นๆ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เงินฝากรวมเร่งตัวขึ้น 4.28% YoY ในเดือน ก.ค. จากที่ขยายตัวเพียง 3.03% ในเดือนก่อนหน้า สำหรับภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์นั้น ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 3.6 ล้านล้านบาทในเดือนก.ค. 2562 และน่าจะทรงตัวอยู่ในกรอบประมาณ 3.5-3.7 ล้านล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งยังคงเพียงพอรองรับการดำเนินธุรกิจ

สำหรับสถานการณ์แคมเปญเงินฝากประจำพิเศษนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ธนาคารพาณิชย์มีการออกแคมเปญเงินฝากใหม่ในเดือนก.ค. 2562 เพื่อชดเชยกับแคมเปญที่ครบกำหนด แต่แคมเปญที่ออกใหม่โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่มีระยะเวลาที่สั้นลง ขณะที่สัญญาณซึ่งสะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่น่าจะพยายามดูแลภาระดอกเบี้ยจ่ายให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมแรงกดดันต่อทิศทางรายได้ดอกเบี้ย ภายหลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและรายย่อยไปแล้ว ทำให้คาดว่า แคมเปญเงินฝากพิเศษในเดือนนี้อาจมีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับตัวที่จะทยอยครบกำหนด

  • สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจเผชิญข้อจำกัดของการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี 2562 และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงติดตามประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ และต้องเร่งบริหารจัดการปัญหาในเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศ อาจเพิ่มความท้าทายต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 2562 นี้ อาจเติบโตต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 4.5% เนื่องจากแม้สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ อาจทยอยขยับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามปัจจัยเชิงฤดูกาลที่อาจจะหนุนให้มีการเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่คงต้องยอมรับว่า แรงส่งการฟื้นตัวของสินเชื่อธุรกิจดังกล่าว ยังคงขึ้นอยู่กับบรรยากาศของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ขณะที่ทิศทางกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ สวนทางภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น อาจยังเป็นข้อจำกัดการฟื้นตัวของสินเชื่อรายย่อยในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยตัวหลัก ทั้งสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถ ที่มีการเร่งตัวไปมากแล้วระหว่างช่วงปลายปี 2561 ถึงกลางปี 2562 นอกจากนี้ การส่งสัญญาณกำหนดแนวทางการปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางของธปท. ก็อาจมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ด้วยเช่นกัน

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น