นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดบริการสุขภาพสาขาสุขภาพจิตและจิตเวชประจำเขตสุขภาพที่9 หรือเขตนครชัยบุรินทร์ ประกอบด้วยเครือข่าย 4 จังหวัดอีสานตอนล่างได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินผลงานจัดบริการประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ2562 มีประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขคือการเข้าถึงบริการเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นออทิสติก (Autistic disorder) และสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder:ADHD) ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองและสิ่งแวดล้อม มีผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ ส่งผลถึงการเรียนของเด็กด้วย ในภาพรวมปีนี้แม้ว่าการเข้าถึงบริการรักษาจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ทั้งนี้จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในกลุ่มเด็กอายุ 2-5 ขวบพบมีความชุกโรคออทิสติกร้อยละ 0.6 คาดว่าทั้งเขตนครชัยบุรินทร์ จะมีเด็กป่วยประมาณ 1,700 คน ข้อมูลถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เข้าถึงบริการรักษาแล้วร้อยละ 26 ยังต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้คือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 ส่วนโรคสมาธิสั้นผลสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 6-15 ปีมีอัตราป่วยร้อยละ 5.4 คาดว่าทั้งเขตฯจะมีเด็กป่วยประมาณ 43,210 คน แต่เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 15 ตามเป้าจะต้องได้ร้อยละ 17 สาเหตุหลักเกิดจากการขาดแคลนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทั้งเขตฯมีเพียง 4 คน ทำให้การตรวจวินิจฉัยล่าช้า และขาดทีมทีมสหวิชาชีพสนับสนุนการให้บริการ เด็กส่วนใหญ่จะต้องเดินทางไปตรวจรักษาในรพ.ในเขตเมือง ต้องรอคิวยาวต่อคน 4-5 เดือน ทำให้เด็กบางส่วนหายไปจากระบบ
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ใช้ 3 มาตรการหลักคือ1.เร่งพัฒนาศักยภาพรพ.ชุมชน ให้สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ใกล้บ้านขึ้น ขณะนี้มีรพ.ชุมชนสามารถตรวจรักษาเด็กทั้ง 2 โรคนี้ได้แล้ว 14 แห่งจากที่มีทั้งหมดรวม 81 แห่ง 2.จัดโครงการจิตแพทย์พี่เลี้ยงจากรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ และจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ออกไปตรวจที่รพ.ชุมชนที่มีกุมารแพทย์และมีทีมสหวิชาชีพสนับสนุนทุกเดือน ปีนี้ดำเนินการได้ 5 แห่ง คือ รพ.ศีขรภูมิ, รพ.สังขะ, รพ.ประโคนชัย, รพ.ลำปลายมาศ และรพ.สีคิ้ว พบว่าได้ผลดีสามารถวินิจฉัยและดูแลต่อเนื่องได้เอง 2 แห่ง และให้ยาเดิมได้ 3 แห่ง ทั้งนี้เด็กที่ป่วยออทิสติกและสมาธิสั้นรายที่อาการรุนแรง ซับซ้อน จะมีศูนย์เชี่ยวชาญรักษา 2 แห่งคือที่รพ.มหาราชนครราชสีมาและรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ดูแลเชื่อมโยงกันจนอาการหายขาดหรือดีขึ้น สามารถเรียนหนังสือร่วมกับเด็กปกติได้
มาตรการที่ 3 การเติมกำลังคนเพิ่มในระบบ โดยจะมีแผนอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่นให้กับพยาบาลวิชาชีพในรพ.ชุมชนเพิ่มอีก 30 แห่ง จากที่มีแล้ว 32 แห่ง ใช้เวลาอบรม 4 เดือน ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านบาท เพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบการคัดกรองค้นหาเด็กป่วยทั้งที่บ้านและโรงเรียน การกระตุ้นพัฒนาการ การปรับพฤติกรรมที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการเขตสุขภาพฯแล้ว คาดว่าจะเริ่มอบรมในเดือนตุลาคม 2562 นี้ และจะเร่งอบรมให้ครบรพ.ชุมชนทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 นี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit