แมนพาวเวอร์กรุ๊ปแนะภาคธุรกิจผนึกภาคการศึกษาแก้ปัญหาแรงงานไอทีขาดแคลน

27 Aug 2019
จากสถานการณ์ตลาดแรงงานของสายงานทางด้านไอทีในประเทศไทย โดยทาง "เอ็กซ์พีริส(Experis)" บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ทำการสำรวจและเปิดเผยถึงกลุ่มงานทางด้านไอทีจากผู้ประกอบการพบว่ามีความต้องการสูงและยังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะและคุณภาพ ซึ่งมีปัจจัยมาจากการสร้างนักศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย แนะภาคธุรกิจและภาคการศึกษาผนึกความร่วมมือในการเร่งสร้างแรงงานที่ตอบโจทย์เพื่อลดปัญหาขาดแคลนบุคลากรป้อนตลาด พร้อมเสนอวิธีการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานโดยใช้โมเดลการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ หรือฟรีแลนซ์ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน

ปัจจุบัน แนวโน้มของเทคโนโลยีโลกจากข้อมูลของสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งการ์ทเนอร์(Gartner) และ PWC Global บ่งชี้ให้เห็นว่า ความก้าวล้ำและการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Autonomous things, Augmented Analytics, AI Driven Development, Edge Computing, Immersive Experience, Digital Twin, Smart Spaces, Blockchain, Security, และ Quantum Computing มีอิทธิพลในวงกว้างต่อโลกในทุกภาคส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมไปถึงเทรนด์ใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามอง ก็คือ การเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลลิบรา (Libra) ของทางเฟซบุ๊ค

สำหรับประเทศไทย ทิศทางบุคลากรทางด้านไอทียังคงให้ความสำคัญและมีความต้องการพัฒนาทักษะเทคโนโลยีในส่วนของ AI, Robotic Process Automation (RPA), Big Data Analytics, Internet of Thing, Fintech อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเทรนด์เทคโนโลยีของโลกที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน โดยมีการใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทางด้านของภาคธุรกิจ เรายังเห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ ในการเข้ามาศึกษา ส่งเสริมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อยกระดับกระบวนการทางธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าต่อยอดการสร้างนวัตกรรมการผลิตสินค้า การให้บริการและการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด อาทิเช่น กลุ่มธนาคารและการเงิน ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ ธุรกิจออนไลน์ ขนส่ง ประกันภัย และภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม การเข้ามามีบทบาทและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ทุกภาคส่วนต่างมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายในแง่ของการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่จากเทคโนโลยีในกลุ่มนี้ยังคงอยู่ในวงจำกัดมาก เนื่องจากบุคลากรคุณภาพที่ยังมีอยู่น้อยและหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่ตอบโจทย์ต่อเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับบุคลากรทางด้านไอที บุคคลากรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ให้ก้าวตามทันกับเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง คนทำงานยุคดิจิทัล ต้อง "ยกระดับทักษะ(Upskill) – ปรับทักษะ(Reskill)" พัฒนาความสามารถให้มีความหลากหลาย ซึ่งเวลานี้จะเห็นว่าหลายองค์กร หันมาใช้วิธีเพิ่มทักษะการทำงานให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ด้านผลสำรวจจาก Mckinsey ก็ยืนยันไปในทางเดียวกันว่าภายในปี 2030 แรงงานกว่า 375 ล้านคนจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองและเสริมทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับกับการทำงานในอนาคต การพัฒนาทักษะนอกเหนือจากทักษะด้านความรู้ทางเทคนิค (Hard Skill) แล้ว ควรเร่งพัฒนาต่อเนื่องในเรื่องของการฝึกอบรมทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) ควบคู่ไปด้วยกัน เช่น ทักษะการนำเสนอ การสื่อสาร และการใช้ภาษาอังกฤษในระดับธุรกิจ เพราะสายงานไอทีในยุคดิจิทัล เป็นสายงานที่ต้องทำงานใกล้ชิดและมีความเข้าใจเชิงธุรกิจมากขึ้น ทางด้านภาครัฐและภาคเอกชน จะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและยาวเพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพให้มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการในการจ้างงาน

นอกจากนี้ ในการสำรวจตลาดแรงงานในสายงานไอทีของ "เอ็กซ์พีริส" ระบุว่าสถานการณ์แรงงานในสายงานด้านไอทียังคงอยู่ในภาวะขาดแคลนสูง เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจของประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ทำให้การทำงานด้วยทักษะแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ จึงต้องมีการสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในองค์กร ซึ่งปัจจุบันบุคลากรด้านนี้ในประเทศก็ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด รวมถึงยังมีทักษะที่ไม่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดด้วย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยมีนักศึกษาที่จบสาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 5.7 แสนคนต่อปี แต่กลับทำงานตรงสายอาชีพแค่ 15% เท่านั้น โดยกว่า 81% ไม่ได้ทำงานในสายไอทีและอีก 3% ยังว่างงาน ทั้งยังระบุไว้ด้วยว่าโดยเฉลี่ยแต่ละปีประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณภาพได้ไม่เกิน 5,000 คน

จากปัญหาดังกล่าว ระบุถึงสาเหตุสำคัญที่เกิดภาวะนี้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังตามเทรนด์เทคโนโลยีไม่ทัน หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ และผลิตบุคลากรได้ไม่ทันต่อความต้องการในตลาดแรงงาน รวมไปถึงบุคลากรผู้มีทักษะความสามารถทางด้านไอทีและเทคโนโลยี (Tech Talent) มีการถูกดึงตัวให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานก็เลือกที่จะออกไปประกอบธุรกิจอิสระ เช่น เปิดบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง หรือ รับงานอิสระ เป็นต้น

ทางแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในตลาดแรงงาน ขอเสนอแนวทางในการรับมือปัญหาดังกล่าวนี้ โดยสถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งปรับโครงสร้างและหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับเทรนด์เทคโนโลยี วางแผนรับมือโดยจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การปฏิรูประบบการศึกษาให้ผลิตบุคลากรไอทีที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยร่วมประชุมทุกภาคส่วนเพื่อหาแนวทางระหว่างภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ เพื่อกำหนดทิศทางในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดแรงงานไอที มีการสนับสนุนอย่างครอบคลุมทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ทั้งออนไลน์ และ ออฟไลน์ เพื่อเพิ่มทักษะเทคโนโลยีทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรมีการลงทุนสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม (Eco System) ที่คล้ายกับซิลลิคอน วัลเลย์ ในอเมริกาเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ก่อให้เกิดการใช้งานจริง และสอดคล้องกับความต้องการของทุกอุตสาหกรรม จากข้อเสนอแนะดังกล่าวประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ถึงโอกาสและการเติบโตในสายงานไอที เนื่องจากตลาดของบุคลากรไอที ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนหากเทียบกับความต้องการโดยรวม ทำให้เป็นโอกาสสำหรับบุคลากรที่มีประสบการณ์และทักษะที่เป็นที่ต้องการมีโอกาสเติบโตในสายงานอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการเติบโตขึ้นไปในระดับสายบริหารหรือไปในเส้นทางของผู้เชี่ยวชาญ มีโอกาสได้รับงานโครงการใหม่ๆเข้ามา รวมไปถึงสามารถเรียกเงินเดือนได้ค่อนข้างสูงกว่าเกณฑ์ตลาด หากเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ขาดแคลนสูง โดยปกติ สายงานไอทีเมื่อเปลี่ยนงานจะได้รับฐานเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ยอยู่ในระดับ 20-25% เป็นปกติ แต่หากเป็นทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการเช่น AI/Machine Learning, Robotic Process Automation, Big Data Analytical, IOT, Blockchain จะมีโอกาสได้รับการเสนอรายได้ขึ้นไปในระดับ 30-40% และถ้าเป็นการจ้างชั่วคราวหรือสัญญาจ้างตามโครงการ ระดับรายได้ก็สามารถขึ้นไปได้ถึง 50-60%

จากสถานการณ์ความต้องการและโอกาสความก้าวหน้ารวมไปถึงการเติบโตในสายงานไอที นับว่ามีความต้องการตำแหน่งงานด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับผลสำรวจ ซึ่งในขณะที่ภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานทางไอทีมากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในสายงานไอทีมีเพิ่มสูงขึ้นและเป็นสถานการณ์เดียวกันทั่วโลกเช่นกัน ดังนั้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเดือนในกลุ่มทักษะเฉพาะ (Niche Skill) มีการปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้เกิดความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสายงานไอที บางสายงาน อยู่ในภาวะขาดแคลน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน วิธีการแก้ไขและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวก็คือโมเดลการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ หรือฟรีแลนซ์ ซึ่งจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นของแรงงานกลุ่มนี้ (Flexible Workforce) มากขึ้นในสายงานดังกล่าว รวมถึงส่วนงานที่ปรึกษาทางด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจทางด้านการให้บริการดิจิทัล แบงค์กิ้ง ที่มีการใช้โมเดลการจ้างงานลักษณะนี้มากขึ้น รวมทั้งการทำงานแบบสัญญาจ้างรายโปรเจกต์และรายเดือน ซึ่งค่าจ้างแรงงานกลุ่มนี้ถือว่าไม่น้อย ทั้งนี้ กลุ่มสายงานที่มีความต้องการสูงในรูปแบบของการจัดหาพนักงานไอที (IT Staffing Business) แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ กลุ่มงานที่ปรึกษาด้านซอฟท์แวร์และระบบ ERP งานพัฒนาซอฟต์แวร์ งานไอทีซัพพอร์ทและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกลุ่มงานด้านอี-คอมเมิร์ซ

ทางด้านสถานการณ์การนำเข้าบุคลากรในสายงานนี้จากต่างประเทศ ในปัจจุบัน องค์กรขนาดกลางและใหญ่มีการนำเข้าบุคลากรไอทีจากต่างประเทศเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เนื่องด้วยประสบการณ์ ความชำนาญ และทักษะทางเทคโนโลยีเฉพาะด้าน รวมไปถึงเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพในประเทศด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น สายงานบริหารระดับสูงและตำแหน่งที่ปรึกษา ที่มีการพึ่งพาบุคลากรที่มีทักษะเชิงลึกเข้ามาบริหารจัดการงานโครงการต่างๆ เช่น กลุ่มบุคลากรจากจีน อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อเมริกา และยุโรป ในขณะที่สายงานระบบ SAP/ERP Consultant และสายงานโปรแกรมเมอร์ และนักพัฒนาโดยมีการนำเข้าบุคลากรจากประเทศอินเดีย จีนและเวียดนาม เป็นต้น

ปัจจุบัน แมนพาวเวอร์กรุ๊ปมีบริการด้านที่ปรึกษาและการสรรหาบุคลากรในสายงานไอทีทั้งประเภทงานประจำ งานชั่วคราว งานสัญญาจ้าง และงานโครงการ รวมถึงมีการขยายการให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น ดูแลตั้งแต่การสรรหา จ้างงาน การทำเงินเดือน รวมถึงบริการด้านการขออนุญาตการทำงานในประเทศ สำหรับในอนาคต แมนพาวเวอร์กรุ๊ป

มองเห็นถึงโอกาสที่จะได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนในการทำโครงการ Tech Academy เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรไอทีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเติมเต็มความต้องการของตลาด อีกทั้งเป็นโครงการที่มาช่วยคัดสรรและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับบริษัทต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสายงานด้านไอทีดังกล่าว แมนพาวเวอร์กรุ๊ปในฐานะผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา โดยหวังว่าจะเกิดความร่วมมือและพลังจากทุกภาคส่วนที่จะเข้ามาแก้ไขและพัฒนากันแบบบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป