“อมตะ” เปิด “depa Amata smart classroom” ห้องเรียนอัจฉริยะ และ “อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส” พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

27 Aug 2019
นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เปิดตัว"depa Amata smart classroom ห้องเรียนรู้อัจฉริยะแห่งแรกในนิคมฯอมตะซิตี้ชลบุรี หวังเป็นศูนย์กลางพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลรองรับเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของไทยในพื้นที่อีอีซี พร้อมจัดแสดง"อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส"เมืองแห่งอนาคต
“อมตะ” เปิด “depa Amata smart classroom” ห้องเรียนอัจฉริยะ และ “อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส” พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงาน พิธีเปิดห้องเรียนรู้อัจฉริยะ (DEPA AMATA Smart Classroom) และAMATA SMART City Showcase นิคมอมตะซิตี ชลบุรี ในวันนี้ (24 สิงหาคม ) ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่กลุ่มอมตะได้ดำเนินการถือเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ตามนโยบายยุทธศาสตร์ 20 ปี ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร ที่จะต้องให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆมาใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

"ทั้งนี้การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย เป็นหนึ่งใน 12นโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่ง โครงการนี้ตอบโจทย์ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ แบบเปิดที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ตอบสนองกับความต้องการตลาดแรงงานในอนาคต สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาประเทศยุคเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคตหรือยุค 4.0"

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อมตะได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการเปิดห้องเรียนรู้อัจฉริยะ (DEPA AMATA Smart Classroom) และAMATA SMART City Showcase ซึ่งตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อเป็นเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคคลากรที่สามารถรองรับกับอุตสาหกรรมในอนาคต (future workforce) และ เป็นการปฎิบัติการในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการสนับสนุนแผนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แห่งแรกของไทยในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

"ห้องเรียนรู้อัจฉริยะ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมของเมืองอมตะสมาร์ทซิตี้ โดยมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมจัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA), Jiangsu Smart City Construction Management, SAAB, Nissan, Delta, HitachiLumada Center เป็นต้น" นายวิกรมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกิจกรรมครั้งนี้ ทางสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย(ATSI) และเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASCN) ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากเมืองต่างๆในอาเซียนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และได้เข้าเยี่ยมชมพื้นที่อมตะสมาร์ทซิตี้โชว์เคส เพื่อศึกษา แนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ของกลุ่มอมตะ ซึ่งจะนำไปเป็นต้นแบบการพัฒนาในพื้นที่นิคมการลงทุนของประเทศอื่นๆ ได้

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าทาง DEPA ให้การสนับสนุนโครงการห้องเรียนรู้อัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมให้มีทักษะด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น10,000 คนต่อปี และมีเป้าหมายระดับประเทศในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลทั้งในระดับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Literacy Skillและ ระดับมืออาชีพหรือProfessional Skill อยู่ที่ 40,000 คนต่อปี โดยภายใน 5 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะมีทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลทั้งสิ้น180,000 คน