สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจีได้สนับสนุนการศึกษา ภายใต้โครงการ "อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ" โดยการมอบทุนการศึกษาในแก่น้อง ๆ ที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เลือกศึกษาต่อสายอาชีวะ และสามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 1 ในสาขาที่กำหนด และให้ทุนฯ ต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวม 5 ปี โดยนักเรียนทุนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างประสบการณ์ทั้งความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ตลอดจนการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เป็นทั้ง "คนเก่งและดี"
"มูลนิธิเอสซีจีเห็นความสำคัญของการสร้างคนในสายช่างอุตสาหกรรม สายบริการ และสายเกษตรกรรม โดยเราตระหนักดีว่าเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กอาชีวะ แต่พวกเขาคือฝีมือชน คือคนที่มีทักษะฝีมือเฉพาะทาง เป็นทักษะความสามารถเฉพาะบุคคล มีวิชาความรู้ที่ติดตัวและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ มูลนิธิเอสซีจีเชื่อมั่นว่า 'คน' คือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศ มูลนิธิฯ พร้อมส่งเสริมทักษะและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล จึงได้สนับสนุนน้องๆ อาชีวะฝีมือชน และเยาวชนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 45 หรือ WorldSkills Kazan 2019 ด้วยการมอบทุนการศึกษาและดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนของการเก็บตัวฝึกซ้อมของน้องๆ ในสาขาก่ออิฐ สาขาจัดดอกไม้ สาขาปูกระเบื้อง และสาขาประกอบอาหาร เพื่อให้น้องๆ ได้ประชันทักษะฝีมือช่างในเวทีระดับโลก ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวต่างชาติ โดยมูลนิธิฯ หวังว่าการแข่งขันนี้ฯ จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ และส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นว่าเด็กไทยของเรานั้นมีฝีมือทัดเทียมกับนานาประเทศ
นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้นำผู้เชี่ยวชาญ (Expert) และผู้ร่วมสังเกตการณ์ในสาขาที่ประเทศไทยยังไม่เคยส่งเยาวชนเข้าแข่งขัน ได้แก่ สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) ร่วมเดินทางไปในครั้งนี้ด้วย เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล รวมถึงต่อยอดและเตรียมการส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 46 ต่อไป" สุวิมล กล่าวสำหรับการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 45 หรือ WorldSkills Kazan 2019 จัดให้มีการแข่งขันทักษะอาชีพทั้งหมด 56 สาขา จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดกว่า 1,300 คน จาก 68 ประเทศทั่วโลก โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมส่งเยาวชนแข่งขันทั้งหมด 23 สาขา สำหรับตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันฯ สาขาก่ออิฐ อย่าง น้องปอนด์ นายตะวัน ชิดหอระดี จบการศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคโนโลยีบุญถาวร นักเรียนทุนมูลนิธิเอสซีจี เล่าถึงการเก็บตัวฝึกซ้อมในรายการนี้ว่า ตนเองมีความพร้อมในการแข่งขันเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยการเก็บตัวฝึกซ้อมนี้มีคุณครูและพี่เลี้ยงคอยแนะนำวิธีการก่ออิฐตามโจทย์การแข่งขัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่ตนเองหวังไว้
"การที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่ง WorldSkills Kazan 2019 ในครั้งนี้ ผมรู้สึกภูมิใจมากครับ ผมต้องเตรียมตัว และเตรียมร่างกายให้พร้อม เพราะว่าการก่ออิฐเป็นสิ่งที่ผมมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก และได้ช่วยครอบครัวทำงานอยู่เป็นประจำ ทำให้ผมมีความมั่นใจที่จะสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันมาให้กับคนไทยใน ครั้งนี้" น้องปอนด์ นายตะวัน กล่าว
ขณะที่ น้องพี นายภูมิน หิรัญสุนทร นักศึกษาปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร วิทยาลัยดุสิตธานี นักเรียนทุนมูลนิธิเอสซีจีที่เข้าแข่งในสาขาประกอบอาหาร ได้เผยถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันรายการที่ใหญ่ระดับสากล อาจจะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ก็ตั้งใจหมั่นฝึกฝน ฝึกซ้อม เพื่อให้มีความพร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้
"การเก็บตัวฝึกซ้อมจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมอาหารทั้งครัวร้อน และครัวเย็น และถัดจากนั้นค่อยฝึกปฏิบัติตามโจทย์แต่ละโจทย์ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการแข่งขัน ในตอนนี้ผมก็ฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ในวันแข่งเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด หรือไม่มีความผิดพลาดเลยครับ ซึ่งผมคิดว่า ผมจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นจากการเก็บตัวฝึกซ้อม และการเข้าแข่งขัน และผมจะตั้งใจทำอาหารของเราออกมาให้ดีที่สุดครับ" น้องพี นายภูมิน กล่าว
ด้านน้องบอล นายสุริยัน รมหิรัญ นักศึกษาชั้น ปวส. 2 สาขาการบริหารคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นักเรียนทุนมูลนิธิเอสซีจี ที่เข้าร่วมการแข่งขันในสาขาจัดดอกไม้ ได้พูดคุยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการแข่งขันว่า การจัดดอกไม้ต้องอาศัยความละเอียด ความประณีต และที่สำคัญที่สุดคือ ความพยายาม เพราะจะทำให้เราทำออกมาได้ดีเหมือนที่เราตั้งใจไว้
"ในการเก็บตัวฝึกซ้อมนั้นต้องแข่งกับหลาย ๆ อย่าง ทั้งโจทย์และเวลาในการทำ การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่จะทำให้งานเราแตกต่างและโดดเด่น โดยไม่ทิ้งความเป็นตัวของเราเองและเป็นไปตามโจทย์ที่เราได้รับ บางทีมีความท้อบ้างปะปนกันไป แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะเดินถอยหลัง การแข่งขันครั้งนี้ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจมากๆ นับตั้งแต่ตอนเก็บตัวฝึกซ้อมจนวันนี้ และผมก็เชื่อเสมอว่าถ้าเราทุกคนมีความพยายาม ความอดทน และฝึกฝนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายที่เราตั้งไว้ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน" น้องบอล นายสุริยัน กล่าว
ปิดท้ายที่ น้องแบงค์ นายสหรัฐ งามสุข นักเรียนชั้น ปวส.2 สาขาช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคโนโลยีบุญถาวร นักเรียนทุนมูลนิธิเอสซีจี ที่เข้าร่วมการแข่งขันในสาขาปูกระเบื้อง ได้พูดคุยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการแข่งขันว่า การแข่งขันฯครั้งนี้ ต้องอาศัยความละเอียด และความพิถีพิถันอย่างมากในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด และให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
"การไปแข่งขันฯครั้งนี้ ผมตั้งใจเป็นอย่างมาก และผมก็ได้ทีมผู้ฝึกสอนที่มาช่วยในเรื่องของการวางแผนต่างๆ และการบริหารเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องของการตัดกระเบื้องที่ต้องอาศัยความละเอียดแม่นยำไว้ เพื่อให้ขนาดของกระเบื้องแต่ละแผ่นอออกมาเท่ากัน และจะทำให้ง่ายในการติดแผ่นกระเบื้อง ซึ่งผมคิดว่าเรื่องของสมาธิก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการแข่งขัน เพราะหากเราไม่มีสมาธิหรือสติ จะทำให้ไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ ตอนนี้ใกล้การแข่งขันเข้ามาทุกทีแล้ว ผมก็จะพยายามฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ ตั้งใจทบทวนแผนกับทีมงาน เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดครับ" น้องแบงค์ นายสหรัฐ กล่าวทั้งนี้การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ หรือ WorldSkills Kazan 2019 ระหว่างวันที่ 22 – 27 สิงหาคม 2562 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย ถือเป็นรายการแข่งขันทักษะฝีมือที่ยิ่งใหญ่ระดับสากล ไม่เพียงแต่เป็นเวทีสำหรับเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสแสดงทักษะฝีมือและความสามารถของตนเอง เวทีนี้ยังเป็นบันไดสำคัญในการพัฒนาฝีมือเยาวชนไทยให้ทั่วโลกได้ประจักษ์อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit