ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า "ทีเซลส์ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED ที่มีความร่วมมือด้วยกันทั้งทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการบริหารจัดการ ทำให้เกิดเป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งมากขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนาให้สูงมากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อทุกหน่วยงานได้รับประโยชน์ และเป็นผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทีเซลส์ เป็นหน่วยงานที่ร่วมพัฒนาชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ร่วมพัฒนาห่วงโซ่ของชีววิทยาศาสตร์ รวมถึงการร่วมมือกับทุกหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการของประเทศไทย และสนับสนุนการทำวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่เป็นงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ"
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 8.5-10% ต่อปี (ปี ค.ศ. 2016-2019) มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก เป็นผลมาจากประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามารับการรักษาจากสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำในไทยอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโต 10% ต่อปี ส่งผลต่อการขยายสาขาของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศ การจัดทำนโยบาย เมดิคอลฮับของรัฐบาล และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต แต่การเข้ามาของบริษัทข้ามชาติจะทำให้ตลาดเครื่องมือแพทย์มีการแข่งขันสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อกำไรโดยรวมของผู้ประกอบการรายย่อยได้
ขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทย มีมูลค่าสูงถึง 1.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2017 โดยบริษัทผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 538 แห่ง (มกราคม ปี ค.ศ. 2018) แบ่งเป็น กลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง 62.2% กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 18.3% กลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค 8.4% กลุ่มบริการและซอฟต์แวร์ 2.3% และกลุ่มอื่นๆ 8.4% ทั้งนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าและส่งออกเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน และการผลิตเครื่องมือแพทย์ในไทยคิดเป็นมูลค่า 1.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโลกมีมูลค่าสูงถึง 361 พันล้านเหรียญสหรัฐ ใน ปี ค.ศ. 2017 และคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 436 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตเฉลี่ยที่ 6.4% ต่อปี เมื่อแบ่งสัดส่วนตลาดตามประเภทของเครื่องมือแพทย์จะพบว่า วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์คิดเป็น 20% ชุดสารเคมีและชุดวินิจฉัยโรค 4% และ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 76% ของมูลค่าตลาด