การลงปฏิญญาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานระหว่างส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ และร่วมการจัดทำแผนภายใต้โครงการฯ ในส่วนของภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในทุกมิติ ทั้งด้านความหลากหลายของทรัพยากรจากธรรมชาติของภูฟ้า เช่น สัตว์บก สัตว์น้ำ แมลง พืชอาหาร พืชสมุนไพร พืชใช้ประโยชน์ เห็ด แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และภูมิปัญญาประเพณี
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ปี 2562 และระยะต่อไปในส่วนของภาคเกษตร มีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ปศุสัตว์จังหวัดน่าน ประมงจังหวัดน่าน สหกรณ์จังหวัดน่าน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ร่วมขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งขณะนี้ มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระดับพื้นที่ไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังความต้องการของเกษตรกร จัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรของโครงการ และยกร่างกรอบแนวทางและการพัฒนาตาม Road Map ภายใต้วิสัยทัศน์ ภาคการเกษตรที่ว่า "เป็นแหล่งศึกษาความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริด้านการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จากคุณค่าของการดำรงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่" โดยจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานโครงการศูนย์ภูฟ้าฯ ในด้านต่างๆ อาทิ งานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชนเผ่ามละบริ รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ด้วยการอบรมเกษตรกร ด้านพืช ด้านการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง การจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ และการส่งเสริมพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำ และระบบบ่อบาดาล เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2561 สศท.2 รับผิดชอบติดตามและรายงานผลโครงการ ซึ่งผลการติดตามพบว่า ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยในพื้นที่ทรงงาน จำนวน 1,800 ไร่ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การผลิตชาอู่หลง การสร้างป่าสร้างรายได้ (กาแฟ) ศูนย์สาธิตการสร้างตนเองภูฟ้าฯ และมีการทำเกษตรกรผสมผสาน และวนเกษตร ซึ่งมีเกษตรกร เข้าร่วม จำนวน 127 ราย และในส่วนของพื้นที่ขยาย 3 พื้นที่ ได้แก่1) บ้านนากอก หมู่ 1 ตำบลภูฟ้า จำนวน 100 ไร่ ได้ดำเนินการเป็นพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ชุมชน และธนาคารข้าว 2) บ้านห้วยลอย หมู่ 6 ตำบลภูฟ้า จำนวน 50 ไร่ เป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรบนพื้นที่สูง และ 3) บ้านห้วยกานต์ หมู่ 1 ตำบลขุนน่าน พื้นที่จำนวน 200 ไร่ ได้จัดการที่ดินเพื่อปลูกข้าวสำหรับบริโภค ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรฯ ร่วมบูรณาการ ซึ่งคาดว่า ผลจากการเดินหน้าโครงการในปี 2562 จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ประจำขั้นต่ำ 10,000 บาท/คน/เดือน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการสร้างคุณค่าจากทรัพยากรตามภูมิประเทศและภูมิสังคม ซึ่ง สศท.2 จะติดตามและรายงานผลโครงการให้ทราบเป็นระยะต่อไป