ฟิทช์คงอันดับและยกเลิกอันดับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันเนื่องจากทางธนาคารไม่ได้มีการออกหุ้นกู้ภายใต้โครงการแล้ว
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุน
ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ของ SCBT ในขณะเดียวกันฟิทช์ได้เพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของธนาคารหนึ่งอันดับเป็น 'F1' เนื่องจากฟิทช์ได้ทบทวน (re-assess) อันดับเครดิตสากลระยะสั้นสำหรับสถาบันการเงินที่มีปัจจัยสนับสนุนจากบริษัทแม่ อีกทั้งการปรับเพิ่มอันดับครั้งนี้ยังสอดคล้องกับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะสั้นของประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากประกาศอันดับเครดิตล่าสุดหัวข้อ "Fitch Upgrades Short-Term Ratings of Six Sovereigns, Removes from UCO" ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2562
อันดับเครดิตสากลระยะยาวของ SCBT อยู่ต่ำกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ของธนาคารแม่ซึ่งคือ Standard Chartered Bank (SCB, A+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ 'a') หนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเป็นไปได้สูงที่ SCBT จะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) จากธนาคารแม่ SCBT (ซึ่งถือหุ้นโดย SCB ในสัดส่วน 99.9%) ได้รับประโยชน์จากจากการดำเนินงานร่วมกันกับกับธนาคารแม่ (synergy) โดย SCBT มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์และช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ (international business) ของกลุ่ม SCB แต่ฟิทช์ยังเชื่อว่าบทบาทและความสำคัญของ SCBT ต่อธนาคารแม่นั้นยังคงอยู่ในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารลูกรายอื่นในกลุ่ม นอกจากนี้ SCBT มีการใช้ชื่อและสัญญลักษณ์ทางการค้าร่วมกันกับธนาคารแม่ และยังมีการเชื่อมโยงและการผสานการดำเนินงานในระดับสูงกับกลุ่มธนาคารแม่ นอกจากนี้ธนาคารแม่ยังมีอำนาจควบคุมการบริหารงานใน SCBT ฟิทช์ใช้อันดับความแกร่งทางการเงินของธนาคารแม่แทนที่จะใช้อันดับเครดิตสากลระยะยาวเป็นอันดับเครดิตอ้างอิง (anchor rating) สำหรับการประเมินปัจจัยสนับสนุนสำหรับธนาคารลูก เนื่องจากฟิทช์มองว่าอาจมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ SCBT จะได้รับจาก qualifying junior debt ของธนาคารแม่ที่เป็นปัจจัยทำให้ SCB มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวสูงกว่าอันดับความแกร่งทางการเงิน
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร อยู่ที่อันดับสูงสุดที่ 'AAA(tha)' และ 'F1+(tha)' เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของ SCBT ที่ 'A-' ยังอยู่ในระดับสูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยที่ 'BBB+'
ฟิทช์คงอันดับเครดิตสนับสนุนของ SCBT เพื่อสะท้อนว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารน่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติจากธนาคารแม่ ในกรณีที่มีความจำเป็น
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจในประเทศไทย (domestic franchise) ที่แข็งแกร่งในด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าสถาบันการเงิน (corporate and institutional-banking) เมื่อเทียบกับธนาคารต่างชาติและธนาคารขนาดกลางในประเทศไทย แม้ SCBT จะได้มีการปรับกลยุทธ์ของธนาคารในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากการขายกลุ่มธุรกิจรายย่อย (retail banking) และหยุดการทำธุรกิจกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง (commercial banking) อย่างไรก็ตามถึงแม้ธนาคารจะมีลักษณะธุรกิจที่มีความกระจุกตัวมากขึ้นจากการที่ SCBT เน้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าสถาบันการเงินแต่ขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพและสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารที่ค่อนข้างระมัดระวัง (conservative risk appetite) เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมธนาคารในประเทศไทย
SCBT มีฐานะเงินกองทุนเป็นจุดแข็งเทียบกับอันดับความแข็งแกร่งของธนาคาร โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 ratio) ในระดับที่สูงมากกว่า 40% ณ สิ้นปี 2561 อย่างไรก็ตามธนาคารน่าจะยังคงดำเนินการปรับโครงสร้างเงินกองทุนให้เหมาะสม (optimise) ซึ่งยังอยู่ระหว่างพิจารณาหาแนวทางดำเนินการ นอกจากฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง SCBT ยังมีโครงสร้างการระดมทุนและสภาพคล่อง (funding and liquidity profile) ที่ดีเป็นปัจจัยสนับสนุน อีกทั้งธนาคารยังอยู่ระหว่างการดำเนินการลดระดับสินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้ (legacy impaired loans) อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันในด้านรายได้ เนื่องจากสงครามการค้าที่ยังคงไม่มีข้อยุติ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ SCBT ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งงนี้ฟิทช์มองว่า SCBT มีโครงสร้างรายได้และความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตภายในประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุนอันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตสนับสนุนอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากความแข็งแกร่งทางการเงิน (ability) ของ SCB หรือโอกาส (propensity) ที่ SCB จะให้การสนับสนุน เป็นพิเศษที่นอกเหนือจากในการดำเนินงานปรกติแก่ SCBT มีการเปลี่ยนแปลง โดยฟิทช์พิจารณาความสามารถดังกล่าวผ่านอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB ดังนั้นการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB น่าจะทำให้อันดับเครดิตของ SCBT ลดลงเช่นกัน ในทางกลับกันการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่อาจไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศเนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวจะถูกจำกัดโดยเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทยที่ 'A-' ส่วนในด้านของโอกาสที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBT ฟิทช์อาจลดอันดับเครดิตของ SCBT ถ้า SCBT มีระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่มที่ลดลลงหรือ SCB มีการปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นใน SCBT
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBT ซึ่งเป็นการวัดความน่าเชื่อถือทางการเงินเมื่อเทียบกับประเทศไทย ได้อยู่ในระดับที่สูงสุดแล้ว จึงไม่สามารถปรับขึ้นได้อีก ส่วนการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น เนื่องจากปัจจัยในด้านการสนับสนุนจากธนาคารแม่ของ SCBT ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับระดับอันดับเครดิตของประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT หากเครือข่ายธุรกิจและรูปแบบของธุรกิจ (business model) ของธนาคารมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและการมีกระจายตัวของธุรกิจที่ดีขึ้น (diversification) รวมทั้งการที่ธนาคารมีโครงสร้างรายได้ที่ยืดหยุ่น (resilience) แม้ว่าในภาวะที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินงาน ฟิทช์คาดว่าโอกาสที่ธนาคารจะเพิ่มการกระจายตัวของธุรกิจมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากธนาคารมีเป้าหมายในการเน้นลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าสถาบันการเงิน แต่ระดับความยืดหยุ่นน่าจะเปลี่ยนแปลงได้บ้าง
ในทางกลับกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCBT อาจมีโอกาสที่จะถูกปรับลดอันดับ หากเครือข่ายธุรกิจของธนาคารปรับตัวแย่ลงอย่างมากและหากความสามารถในการทำกำไรหรือคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวลดลงอย่างมากและต่อเนื่องในระยะปานกลาง นอกจากนี้หากอัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงอย่างมากอาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับ
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าธนาคารมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ EBG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ SCBT มีดังนี้
-อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของโครงการหุ้นกู้ระยะสั้นไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ 'F1+(tha)' และยกเลิกอันดับเครดิต
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit