ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ GPSC ที่ 'A+(tha) หลังจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW’; นำออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ

05 Sep 2019
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวมีเสถียรภาพ โดยอันดับเครดิตทั้งหมดได้รับการนำออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ

อันดับเครดิต 'A+(tha)' ของ GPSC ได้รวมถึงอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ 'a(tha)' ฟิทช์ได้ทบทวนความสัมพันธ์ระหว่าง GPSC และบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AAA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) หลังจากที่ ปตท. และผู้ถือหุ้นรายอื่นในกลุ่ม ปตท. ประกาศสนับสนุนการเพิ่มทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ฟิทช์พิจารณาว่าความสัมพันธ์ระหว่าง GPSC และ ปตท. อยู่ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)

ฟิทช์ได้ปรับอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC เป็น 'a(tha)' จาก 'a+(tha)' เนื่องมาจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า สถานะทางการเงินของ GPSC จะอ่อนแอลง หลังจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน ก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO adjusted net leverage) ของ GPSC จะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5 เท่า ณ สิ้นปี 2562 (ณ สิ้นปี 2561: 1.5 เท่า) และอยู่ในระดับ 4.0-5.0 เท่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในมุมมองของฟิทช์ การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สิน ไม่สามารถถูกชดเชยได้ทั้งหมดด้วยการปรับตัวดีขึ้นของสถานะทางธุรกิจของ GPSC หลังจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ฐานะการเงินที่อ่อนแอลงจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของ GPSC จะอ่อนแอลงหลังจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW โดยใช้หนี้บางส่วน GPSC คาดว่าจะใช้เงินกู้ระยะยาวประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนเงินที่ใช้ทั้งหมดในการเข้าซื้อกิจการ (1.28 แสนล้านบาท) โดยส่วนที่เหลือน่าจะมาจากการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO adjusted net leverage น่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.2 เท่า ณ สิ้นปี 2562 จาก 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 4.0-4.5 เท่า ในปี 2563 และ 2565 การลงทุนในโครงการ Energy Recovery Unit หรือ ERU จะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สินของ GPSC โดยเฉพาะในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินลงทุนในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวในระดับสูงสุด ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO adjusted net leverage จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.7 เท่าในปี 2566 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินน่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โครงการ ERU เป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กำลังผลิตติดตั้ง 250 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)

สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นจากการกระจายตัวของสินทรัพย์ที่มากขึ้น: ฟิทช์เชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการ GLOW และการลงทุนในโครงการ ERU จะทำให้สถานะทางธุรกิจของ GPSC ดีขึ้น เนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น และการกระจายตัวด้านสินทรัพย์และด้านภูมิศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ของบริษัทได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,299 เมกกะวัตต์ และ 2,698 ตันต่อชั่วโมง จาก 1,977 เมกกะวัตต์ และ 1,760 ตันต่อชั่วโมง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 GPSC ได้กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศ (จากอันดับที่ 6 ในช่วงก่อนเข้าซื้อกิจการ) โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 จากร้อยละ 4 ในช่วงก่อนเข้าซื้อกิจการ

นอกจากนี้ GLOW ยังมีการกระจายตัวของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากกว่า เนื่องจาก GLOW มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง (ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของกำลังผลิตทั้งหมดตามสัดส่วนการถือหุ้นของ GPSC หลังเข้าซื้อกิจการ) โดย GPSC อยู่ในระหว่างก่อสร้างโครงการใหม่ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจำนวน 728 เมกกะวัตต์ และ 178 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานภายในปี 2566

รายได้จากสัญญาซื้อขายระยะยาว: ฟิทช์คาดว่าคุณภาพรายได้ของ GPSC จะยังคงแข็งแกร่งหลังจากการเข้าซื้อกิจการ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของ GLOW เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยรายได้ของ GLOW ส่วนใหญ่มาจากสัญญาการขายไฟฟ้า และไอน้ำ กับลูกค้าซึ่งมีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และบริษัทลูกของ ปตท. สัญญาการขายไฟฟ้าและไอน้ำ ดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในด้านปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยลูกค้าต้องรับซื้อไฟฟ้าและไอน้ำ ในระดับขั้นต่ำตามกำลังการผลิตตามสัญญา ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีความเสี่ยงจากการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer) บางโครงการของ GLOW ที่จะหมดอายุลงในระหว่างปี 2565-2566 ในเดือนมกราคมปี 2562 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการกับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่จะสิ้นสุดอายุลง ซึ่งน่าจะช่วยลดความไม่แน่นอนในการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปได้บางส่วน

อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ GPSC จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 28-29 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากร้อยละ 20.7 ในปี 2561 GPSC จะได้รับประโยชน์จากราคาเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าของโรงไฟฟ้าของ GLOW โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง GLOW มี EBITDA Margin ที่สูงกว่าที่ระดับประมาณร้อยละ 31-32 เมื่อเปรียบเทียบกับ EBITDA Margin ของ GPSC ในช่วงก่อนเข้าซื้อกิจการซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ฟิทช์คาดว่าบริษัทน่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดจาการดำเนินงาน ที่ระดับประมาณ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ความสัมพันธ์กับ ปตท. ที่แข็งแกร่งขึ้น: ฟิทช์ได้พิจารณาความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ระหว่าง GPSC และ ปตท. ว่าอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ ฟิทช์มองว่า GPSC เป็นบริษัทเดียวในกลุ่ม ปตท. ที่มีบทบาทในการสร้างรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่า นอกจากนี้ GPSC ยังเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรายหลักให้แก่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ของกลุ่ม ปตท ซึ่งได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)

สัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ GPSC ต่อของกำไรของกลุ่ม ปตท. หลังจากการเข้าซื้อกิจการ จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7 จากร้อยละ 2 ในช่วงก่อนที่จะมีการเข้าซื้อกิจการ แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากำไรจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ความสัมพันธ์กับ ปตท. ยังสะท้อนถึงแผนการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งได้แก่ ปตท., PTTGC, TOP และ ไทยออยล์เพาเวอร์ เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการ GLOW

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

GPSC มีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย โดยบริษัททั้งสองบริษัทมีกำไรที่สม่ำเสมอ GPSC มีการกระจายตัวของทรัพย์สิน และมีรายได้และกำไรที่สูงกว่า BAFS แต่ BAFS ดำเนินธุรกิจลักษณะที่ค่อนข้างจะผูกขาด อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินของ GPSC อ่อนแอกว่า BAFS เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า โดยอัตราส่วน FFO-Adjusted Net Leverage ของ GPSC น่าจะอยู่ในระดับ 4.0-5.0 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW และการลงทุนในโครงการ ERU ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่า BAFS ซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 2.0 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตของ BAFS อยู่หนึ่งอันดับ

GPSC และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A-(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย มีกำไรที่สม่ำเสมอเนื่องจากมีสัญญาซื้อขายระยะยาวกับลูกค้า GPSC มีอัตราส่วนหนี้สิน (ตามประมาณการ) ในระดับที่สูงกว่า NNEG โดยมีอัตราส่วน FFO adjusted net leverage ที่ระดับ 4.0-5.0 เท่า อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ NNEG เนื่องจาก GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า เนื่องจากมีการกระจายตัวของทรัพย์สินที่สูงกว่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มากกว่า NNEG มาก

สมมติฐานที่สำคัญ

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • EBITDA ตามงบการเงินรวมของ GPSC อยู่ที่ 1.9-2.0 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในปี 2562 และ 2563
  • EBITDA Margin ตามงบการเงินรวม อยู่ที่ร้อยละ 28-29 ในปี 2562 และ 2563
  • EBITDA ของ GPSC (ไม่รวม GLOW) อยู่ที่ ประมาณ 5 พันล้านบาทในปี 2562 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563-2565 จากการที่โครงการใหม่เริ่มดำเนินงาน
  • โครงการ ERU มี EBITDA ที่ประมาณ 500 ล้านบาท ต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
  • EBITDA ของ GLOW อยู่ที่ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท ต่อปี ในปี 2562 และ 2563
  • ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนอยู่ที่ 5-8 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2562 และ 2563
  • รับเงินเพิ่มทุนจำนวน 7.4 หมื่นล้านบาทในปี 2562 โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิเพิ่มทุนเต็มจำนวน
  • จ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของ GPSC

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัท ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง หลังจากมีการเข้าซื้อกิจการ GLOW อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC หากอัตราส่วน FFO adjusted net leverage ลดลงต่ำกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ

  • อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้ FFO adjusted net leverage ของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 5.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง
  • ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง
  • อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท หากอัตราส่วน Secured Debt to EBITDA เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562: 1.7 เท่า)

สภาพคล่อง

สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: ฟิทช์มองว่าการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นใช้ในการเข้าซื้อกิจการ GLOW น่าจะสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากฟิทช์คาดว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งรวมถึง ปตท., PTTGC, TOP และ ไทยออยล์เพาเวอร์ได้ประกาศว่าจะให้การสนับสนุนการเพิ่มทุนดังกล่าว นอกจากนี้ GPSC ยังคงมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้หนี้ที่ใช้ในการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 GPSC มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.5 พันล้านบาท โดยบริษัทมีเงินสดจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ซึ่งเพียงพอในการชำระหนี้ดังกล่าว นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่า GPSC น่าจะมีกระแสเงินสด (ก่อนค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อกิจการ) เป็นบวก ในปี 2562 และ 2563 รวมถึง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 GPSC มีวงเงินที่ผูกพันที่สามารถเบิกถอนได้จำนวน 3 พันล้านบาท และวงเงินไม่ผูกพันจำนวน 5 พันล้านบาท