โรคหลอดเลือดสมอง รู้เร็ว รักษาไว ห่างไกลอัมพฤกษ์ อัมพาต โดย พญ.ปฏิมา วีณะสนธิ แพทย์ด้านประสาทวิทยาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า

05 Sep 2019
ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินเรื่องอันตรายของโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือ Stroke และมองว่าเป็นโรคหนึ่งที่น่ากลัว แต่ก็ยังเพิกเฉยไม่ดูแลตัวเอง แต่รู้หรือไม่ อันตรายจากโรคนี้ร้ายแรงกว่าที่คิด วันหนึ่งอาจเป็นเรา ที่นั่งทำงานอยู่ดีๆ เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ขึ้นมากะทันหัน ทั้งที่ก่อนหน้าอาการก็ยังดีๆ อยู่ ในอดีตโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันกลับพบในคนวัยทำงานยุคใหม่เพิ่มขึ้น เพราะโรคหลอดเลือดสมองอุดตันไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนมีความเสี่ยง
โรคหลอดเลือดสมอง รู้เร็ว รักษาไว ห่างไกลอัมพฤกษ์ อัมพาต  โดย พญ.ปฏิมา วีณะสนธิ แพทย์ด้านประสาทวิทยาอายุรศาสตร์  โรงพยาบาลพระรามเก้า

พญ.ปฏิมา วีณะสนธิ แพทย์ด้านประสาทวิทยาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง คือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื้อสมองถูกทำลาย และการทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมด ทำงานผิดปกติ และเกิดอาการขึ้นทันทีทันใด โรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. หลอดเลือดสมองตีบหรือ อุดตัน โดยหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง ส่วนหลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดจากการมีลิ่มเลือดจากหัวใจไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง 2. หลอดเลือดตีบ แตก หรือฉีกขาด เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบาง ซึ่งเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง หรือหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น จากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้แตกง่าย ส่งผลทำให้เกิดเลือดออกในสมอง และเกิดความเสียหายต่อสมองตามมา โดยวิธีการสังเกตอาการโรคหลอดเลือดสมองในเบื้องต้นตามหลัก FAST ได้แก่

F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่งทดสอบง่ายๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน

A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่ายๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ

S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนคิดว่าผู้ป่วยสับสน ทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่ายๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น

T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การรีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองตามระยะเวลาที่มากขึ้น เพราะ ทุกวินาทีที่ผ่านไป เซลล์สมองจะเสียหายมากขึ้น ซึ่งหากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยลดความเสียหายของเนื้อสมอง มาตรฐานเวลาหรือ Magic number คือตัวเลขสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง Stoke Golden Hour ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดและลดเสี่ยงอัมพาตได้นั้นอยู่ที่ไม่เกิน 4.5 ชั่วโมงหลังจากพบอาการ

โรคหลอดเลือดสมองป้องกันได้ หากหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก ลดการรับประทานอาหารจำพวกที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด เพิ่มผักผลไม้ งดสูบบุหรี่ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มาของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะโรคอ้วน เป็นต้น ส่วนการรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงและระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแบบทันทีทันใด โอกาสห่างไกลจากความพิการและอัตราการเสียชีวิต ก็จะลดน้อยลงมากเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว ควรได้รับการรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว มีโอกาสสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และอัตราการเกิดซ้ำมากกว่าคนปกติ

HTML::image(