นายจารุพันธ์จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำธุรกิจ ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าและบริการได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการสินค้าโอทอป ซึ่งเป็นสินค้าจากภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 (OTOP to Industry 4.00 Development project) หรือ OTOP 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปให้สามารถนำทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาบริหารกิจการและพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ โดยเฉพาะช่องทางการตลาดในโซเชียลเน็ตเวิร์ค (Social Network) ด้วยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เข้ากับเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จัดทำเรื่องราวภูมิปัญญา (Story Marketing) การใช้แอพพลิเคชั่นในการออกแบบตกแต่งภาพเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ สร้างความแตกต่างในลักษณะรูปแบบ Content Marketing และอำนวยความสะดวกในการบริโภคได้ง่ายขึ้น
โดยกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว โดย 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้ารับการอบรมจำนวนกว่า 1,500 ราย สามารถขายสินค้าบนตลาดออนไลน์และยอดขายรวมกว่า 40 ล้านบาท ผ่านระบบ E-commerce อาทิ เว็บไซด์ Etsy, Alibaba, Lazada รวมถึงเว็บไซต์digitalotop-dip ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ และในปี พ.ศ. 2562 นี้ มีการกำหนดหลักสูตรที่มีความเข้มข้นและเน้นการลงมือปฏิบัติจริง มีวิทยากรให้คำปรึกษาตลอดการดำเนินโครงการ โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการโอทอปที่สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม เพื่อฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาเบื้องต้น จำนวน 504 ราย จากนั้นทำการคัดกรองผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเพื่อเข้ารับการอบรมในหลักสูตรเข้มข้น จำนวน 160 ราย และได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลการพัฒนาดีเด่น จำนวน 20 ราย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีผลต่อการพัฒนาดีเด่นให้นำเสนอผลงานเข้าร่วมการประกวดแข่งขัน ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลจำนวน 20 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ จำนวน 10 รางวัล และรางวัล Best award จำนวน 10 รางวัล "โครงการนี้ มีผู้ประกอบการโอทอปที่สนใจด้านการทำตลาดออนไลน์ รวมถึงการทำวีดีโอเพื่อเป็นสื่อโฆษณาออนไลน์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างสื่อออนไลน์ ภายใต้การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนเกิดเป็นผลงานการออกแบบที่มีความสมบูรณ์ ทั้งภาพและเสียง สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ในการนำเสนอสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการนำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างเรื่องราวให้เป็นที่สนใจ และประชาสัมพันธ์ในช่องทางสื่อออนไลน์ จะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ขยายตลาด และนำมาสู่การเพิ่มยอดขายในอนาคต เกิดผลดีเชิงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ" นายจารุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย