มาตรฐานที่ 1 ด้านผลลัพธ์ผู้เรียน
ก. เป็นผู้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความรู้ และความรอบรู้ด้านต่างๆ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะต่าง ๆ ในการสร้างสัมมาอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความเพียร บากบั่น และยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ
ข. เป็นผู้มีทักษะศตวรรษที่ 21 สามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เพื่อพัฒนาหรือแก้ปัญหาสังคม มีคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลก สามารถร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสและเพิ่มมูลค่าให้กับตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
ค. เป็นผู้ที่มีความกล้ายืนหยัด คิด ทำ พูดในสิ่งถูกต้อง และเป็นธรรม มีภาวะผู้นำและการทำงานเป็นทีม รู้คุณค่าและรักษ์ความเป็นไทย มีจิตสาธารณะทำประโยชน์เพื่อสังคม และร่วมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืนทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม และประชาคมโลก
มาตรฐานที่ 2 ด้านวิจัยและนวัตกรรม
ก. ผลงานวิจัยที่เป็นการสร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ใหม่ และสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ความต้องการจำเป็นของชุมชน ภาคอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก
ข. ผลลัพธ์ของการวิจัยและนวัตกรรมมีผลกระทบต่อการพัฒนาผู้เรียน หรือการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
มาตรฐานที่ 3 ด้านการบริการวิชาการ
ก. การบริการวิชาการที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบท และตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น ชุมชน และสังคม โดยมีความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และต้องมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
ข. ผลลัพธ์ของการบริการวิชาการนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม ผู้เรียน ครอบครัว สังคม ชุมชน และประเทศชาติ
มาตรฐานที่ 4 ด้านศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย
ก. การจัดการเรียนรู้ การวิจัย หรือการบริการวิชาการซึ่งนำไปสู่การสืบสาน การสร้างความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรม การปรับและประยุกต์ใช้ศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทยและต่างประเทศอย่างเหมาะสม
ข. ผลลัพธ์ของการจัดการด้านศิลปวัฒนธรรมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
มาตรฐานที่ 5 ด้านการบริหารจัดการ
ก. หลักสูตรที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ผู้เรียน (Outcome Based Education) และการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติและความต้องการที่หลากหลายของประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม สถานประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ข. การบริหารงาน รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรและทรัพยากรการเรียนรู้โดยคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล ความหลากหลายและความเป็นอิสระทางวิชาการ ยืดหยุ่น คล่องตัว โปร่งใส และตรวจสอบได้
ค. ระบบประกันคุณภาพระดับหลักสูตร คณะ และมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ง. การกำกับให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง