สสส. ร่วมกับเครือข่ายสื่อท้องถิ่น จัดเวทีสัญจรรับมือข่าวลวง หนุนเสริมระบบนิเวศน์สื่อเพื่อสุขภาวะไทย

12 Sep 2019
สสส. ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อ-วิชาการ-ภาคประชาสังคม จัดเวทีสัญจรรับมือข่าวลวง เพื่อหนุนเสริมการสร้างระบบนิเวศสื่อเพื่อสุขภาวะของไทย
สสส. ร่วมกับเครือข่ายสื่อท้องถิ่น จัดเวทีสัญจรรับมือข่าวลวง หนุนเสริมระบบนิเวศน์สื่อเพื่อสุขภาวะไทย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Change Fusion และเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาคใต้ จัดเวทีเสวนาสัญจร เรื่อง "สื่อท้องถิ่นกับการรับมือข่าวลวงและด้านมืดยุคดิจิทัล" นำร่องภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก ด้านสื่อท้องถิ่นขานรับตื่นตัวรับมือ 'ข่าวลวง' เป็นเรื่องสำคัญ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ความเข้าใจผิด เสียทรัพย์สิน ไปจนถึงการส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

คุณญาณี รัชต์บริรักษ์ นักบริหารแผนงาน ชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความสำคัญในการจัดเวทีเสวนาสัญจรครั้งนี้ว่า "ปัจจุบันนี้ในโลกยุคดิจิทัล ปัญหาข่าวปลอมหรือ Fake News กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในสังคม กว่า 1 ใน 3 ของข่าวปลอมส่งผลต่อสุขภาพทั้งกายและใจ ทั้งนี้ สสส. เองตระหนักถึงความสำคัญของระบบสื่อ ในฐานะของปัจจัยในการกำหนดคุณภาพของสุขภาวะของคนในสังคม เป้าหมายของเราคือการให้พลเมืองในสังคมรู้เท่าทันสื่อ เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ คือสามารถใช้สื่อมาส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะในชีวิตของเราได้ ในขณะเดียวกัน บทบาทของสื่อท้องถิ่นนั้นมีความสำคัญมาก เพราะมีความใกล้ชิดกับชุมชน ที่ผ่านมาเรามีภาคีเครือข่ายสื่อสร้างสุขอยู่ในแต่ละภูมิภาค เพื่อที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการใช้สื่อเพื่อสุขภาวะอย่างเข้มแข็ง ซึ่งหากสื่อท้องถิ่นมีความตื่นตัวรู้เท่าทันในการสกัดกั้นข่าวลวง เฝ้าระวัง และเกิดการป้องกันเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เราก็จะมีพลเมืองสื่อที่มีคุณภาพซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมต่อไป "

ด้าน คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวเสริมว่า "เมื่อก่อนหลายคนอาจมองว่าข่าวลวง เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง แต่วันนี้ข่าวลวงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เป็นปัญหาระดับชาติ เราอยากให้ประชาชนตื่นตัวในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาข่าวลวงมีทั้งการหลอกลวงเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การเงิน การขายสินค้าและบริการ โดยคนที่ตกเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุและเด็กเยาวชน การจัดเวทีเสวนาที่ จ.ภูเก็ตในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายสื่อท้องถิ่น ในการทำงานประสานกับภาคประชาสังคม แกนนำชุมชน และชาวบ้านในระดับรากหญ้า เพื่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในการรับมือกับข่าวลวงและไม่ตกเป็นเหยื่อข้อมูลข่าวสารในด้านมืดของยุคดิจิทัล"

สำหรับประเด็นการหารือบนเวทีการเสวนาสัญจร ที่ จ.ภูเก็ต ตัวแทนจากทุกภาคส่วนได้แสดงความห่วงใยร่วมกัน พร้อมเสนอแนวทางการตรวจสอบข้อมูลในโลกออนไลน์ก่อนทำการแชร์ออกไปอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม

"ถ้าพูดถึงข่าวลวงในท้องถิ่นเราจะไม่พบเห็น เพราะว่าสื่อท้องถิ่นเราเข้าถึงต้นตอของข่าวเลย เพราะฉะนั้นข่าวที่เบี่ยงเบนประเด็น ที่จะเกิดขึ้นมักเป็นข่าวที่นักข่าวต่างพื้นที่เข้ามาแล้วไม่ทราบบริบท เราจะเห็นว่าหลายข่าว เสนอปรากฎการณ์ความสะใจ แต่ข้อมูลเชิงลึก ไม่มีการพูดถึงในข่าวสารเลย เราจะเห็นจากหลายครั้งที่มีการนำข่าวจาก Social Media มานำเสนอ บางครั้งก็ดี เพราะมีการสืบค้นไปที่ต้นตอผู้ที่อยู่ในข่าว แต่บางครั้ง เป็นเพียงแค่การเล่าตามคลิปข่าว ซึ่งหากเป็นข่าวที่ไม่จริง เมื่อมาแก้ไขตามหลังก็จะเป็นเรื่องยาก" คุณเจริญ ถิ่นเกาะแก้ว เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น จ.ภูเก็ต กล่าว

"จริง ๆ มันไม่มีเกณฑ์จริงที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง แต่พอจะมีวิธีง่าย ๆ ที่ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงอยู่ 3 ข้อ คือ 1. ค้นหาต้นตอ ค้นหาที่มาว่ามาจากไหน 2. วิเคราะห์ที่มา ให้ดูวัตถุประสงค์ว่าส่งมาเพื่ออะไร เช่น เบื้องหลังที่เขาส่งมาอยากขายสินค้า ความเชื่อถือก็จะลดลง และ 3. ตรวจสอบเนื้อหา ต้องพิจารณาว่าจริงหรือไม่ มีงานวิจัย ข้อมูลวิชาการ วิทยาศาสตร์รับรองไหม หัวใจที่สำคัญที่สุด คือ ไม่รู้จริง อย่าแชร์"คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ สื่อมวลชน และผู้ดำเนินรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์" กล่าว

อย่างไรก็ตามการสร้างกลไกการรับมือข่าวลวงและข่าวปลอม ต้องเริ่มต้นที่ผู้รับสารและผู้ส่งสาร ซึ่งในยุคสื่อหลอมรวม ก็จะเป็นเสมือนคนๆ เดียวกันนั้น จะต้องมีความรู้รอบตัวในเชิงลึกและกว้างอย่างแท้จริง

"เราทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้นเราเองก็ต้องมีทักษะในการคัดกรองข้อมูลด้วยตนเอง เพื่อรู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม ตัวเรานี่แหละสำคัญที่สุดที่จะเป็นคนสกัดกั้นข่าวลวง แต่ทุกวันนี้คนนิยมบริโภคข่าวสารแบบสนใจเฉพาะด้าน จึงขาดความรอบรู้ที่เป็นเรื่องความรู้รอบตัวในเชิงลึกและเชิงกว้างจริง ๆ เมื่อสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือให้เราเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก เราก็ควรมาเสริมสร้างนิสัยความรอบรู้ในการเท่าทันสื่อ ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งมอนิเตอร์สื่อ และเฝ้าระวังข่าวลวง เพื่อสกัดกั้นด้านมืดในยุคดิจิทัลได้" ผศ.ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวสรุปทั้งนี้การจัดเวทีเสวนาสัญจร เพื่อสร้างพลังเครือข่ายสื่อท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนในการรับมือข่าวลวงและด้านมืดดิจิทัล จะขยายผลไปสู่ภูมิภาคอื่น เช่น ภาคตะวันตก - จ.เพชรบุรี , ภาคอีสาน - จ.อุบลราชธานี , ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และภาคกลาง – กรุงเทพมหานคร ต่อไป เพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนความตื่นตัว และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าในโลกออนไลน์ได้อย่างมีวิจารณญาณที่ดี ในฐานะของนักสื่อสารสุขภาวะและพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ.

สสส. ร่วมกับเครือข่ายสื่อท้องถิ่น จัดเวทีสัญจรรับมือข่าวลวง หนุนเสริมระบบนิเวศน์สื่อเพื่อสุขภาวะไทย