จากข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและฟื้นฟูการประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืนนั้น เป็นไปตามภารกิจของกรมประมงตามมาตรา 12 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านการประมง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ซึ่งการจัดสร้างปะการังเทียมถือเป็นเครื่องมือทางการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนว่าสามารถเป็นแหล่งอนุรักษ์ แหล่งทำการประมง และสร้างอาชีพให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้จริง
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าการจัดวางปะการังเทียมร่วมกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยมีการจัดวางปะการังเทียมที่ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ใช้วัสดุแท่งคอนกรีตขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5 เมตร จำนวนรวม 1,000 แท่ง ภายหลังการจัดวางปะการังเทียมไปแล้ว 2 ปี ผลการประเมินพบว่ามีสัตว์น้ำหน้าดินหรือสัตว์น้ำชนิดเกาะติดขนาดใหญ่บนผิวปะการังเทียมจำนวน 12 ชนิด ปลา 35 ชนิด ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจ 22 ชนิด เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรี เป็นต้น ส่วนสัตว์น้ำที่จับได้โดยเครื่องมือประมงพื้นบ้านมีจำนวน 181 ชนิด เป็นปลา 128 ชนิด ปู กุ้ง กั้ง หมึก และอื่น ๆ รวม 53 ชนิด การเพิ่มขึ้นและความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่านี้ จะส่งผลให้ชุมชนประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำประมงพื้นบ้านไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำด้วยการจัดวางปะการังเทียมนั้นมีความเหมาะสม
สำหรับการจัดวางปะการังเทียมในวันนี้ เป็นการจัดสร้างปะการังเทียมแหล่งเล็ก ใช้วัสดุแท่งคอนกรีตขนาด 1.5 x 1.5 x 1.5 เมตร นำไปจัดวางเพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ จำนวน 2 แหล่ง 2 จังหวัด ได้แก่ แหล่งที่ 1 ใช้ปะการังเทียม จำนวน 500 แท่ง พร้อมทุ่นลอย 3 ทุ่น จัดวางบริเวณทะเลหน้าชายฝั่งตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 0.32 ตารางกิโลเมตร และแหล่งที่ 2 ใช้ปะการังเทียม จำนวน 500 แท่ง พร้อมทุ่นลอย 4 ทุ่าน
จัดวางบริเวณทะเลหน้าชายฝั่งตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ 0.005 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ มีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การจัดวางปะการังเทียมในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลดีแก่การทำประมงชายฝั่งอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันนี้ทั้งจังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาส มีการจัดสร้างปะการังเทียมจังหวัดละ 77 แหล่ง และในอนาคตหากชุมชนประมงมีความต้องการก็จะมีการดำเนินการเพิ่มเติมขึ้นอีก
รองฯ วิชาญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสร้างปะการังเทียมนั้น กรมประมงได้ดำเนินการตามพระราชเสาวณีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เลี้ยงตัว วางไข่ และหลบภัยของสัตว์น้ำ โดยเริ่มจัดสร้างมาตั้งแต่ปี 2521 อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันกรมประมงได้ดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียม เพื่อให้เป็นแหล่งทำการประมงในพื้นที่ 20 จังหวัดชายทะเล รวม 584 แหล่ง ครอบคลุมพื้นที่ 2,063.13 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผลการจัดสร้างพบจำนวนประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีสัตว์น้ำในอดีตที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้วหายไป ได้กลับมามีขึ้นอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ฝากถึงพี่น้องชาวประมงทุกท่านว่า ขอให้ใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ให้รักและหวงแหนในทรัพยากรพื้นถิ่นของตน เพื่อให้ลูกหลานไทยได้มีสัตว์น้ำไว้ใช้อย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit