กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมตัวแทนสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกร ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมยางพารา ปาล์มน้ำมัน โคนมและโคเนื้อ เกือบ 2,000 คน ชี้แจงนโยบายประกันรายได้และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล หวังใช้กลไกสหกรณ์ขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้บรรลุเป้าหมาย ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้เกษตรกรทั่วประเทศ(วันนี้ 13 กันยายน 2562) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานใน พิธีเปิดโครงการ "การสร้างการรับรู้นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลผ่านสถาบันเกษตรกร" และปาฐกถาพิเศษ "ภาพรวมนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล" โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้นำสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจด้านยางพารา ปาล์มน้ำมัน โคนมและโคเนื้อ เกือบ 2,000 คน เข้าร่วมรับฟังเพื่อสร้างการรับรู้นโยบาย ด้านการเกษตรส่งผ่านสถาบันเกษตรกร โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมชี้แจงนโยบายด้านการเกษตรภายใต้ภารกิจของหน่วยงาน ที่กำกับดูแลด้วย ณ อาคารอิมแพคฟอรั่ม ชั้น 2 ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาภาคการเกษตร อาทิ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกร ในสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด โดยผ่านเครื่องมือและมาตรการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ จัดให้มีระบบการประกันภัยสินค้า การพัฒนาระบบตลาดที่เชื่อมโยงผลการผลิตของเกษตรกรถึงผู้ประกอบการแปรรูปและผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการขยายและเข้าถึงตลาดในรูปแบบต่าง ๆ การอำนวยสะดวกทางการค้า และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตรที่มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม การพัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด การค้าออนไลน์ ระบบบัญชี เพื่อขยายฐานการผลิตและฐานการตลาดของสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง มีความสามารถในการแข่งขัน การส่งเสริม การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน แหล่งเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ การส่งเสริมการทำปศุสัตว์ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และการฟื้นฟูและสนับสนุนอาชีพการทำประมงให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานของการรักษาทรัพยากรทางการประมงและทรัพยากรทางทะเลให้มีความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง
จากนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตรดังกล่าว รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ได้แก่ การประกันรายได้เกษตรกร ในสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว ในส่วนของยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว การพัฒนาระบบการตลาดสินค้าเกษตร การลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ มุ่งเป้าผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรเป้าหมาย 5 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ให้ได้มากที่สุด มาตรการการสนับสนุน
ต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ในปีการผลิต 2562/63 สำหรับชาวนาผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 862,176 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลประกาศประกันราคาข้าว 5 ประเภท ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท
นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นโดยจะแจกเมล็ดพันธุ์ฟรี การส่งเสริมให้เลี้ยงโคขุน โดยจะมีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรกู้ไปลงทุน และรัฐบาลจัดงบประมาณชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และจะเร่งดำเนินการมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรที่ประสบภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การบรรเทาค่าครองชีพให้กับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และการบรรเทาความเสียหายจากอิทธิพลพายุโพดุล เป็นต้นการจัดโครงการ "สร้างการรับรู้นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลผ่านสถาบันเกษตรกร" ในครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีเกษตรกรจะทราบและรับรู้นโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตรที่รัฐบาลได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชาวเกษตรกร ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายและมาตราการต่าง ๆ ของรัฐบาล กลไกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน รวมถึงการถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการของรัฐบาลไปยังเกษตรกรที่เป็นสมาชิก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อร่วมกันยกระดับภาคการเกษตรให้มี ความเข้มแข็ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ก้าวพ้นจากความยากจน
สำหรับโครงการ "การสร้างการรับรู้นโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลผ่านสถาบันเกษตรกร" กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้นโยบายในด้านการเกษตรของรัฐบาล ที่มุ่งแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผ่านสถาบันเกษตรกร โอกาสนี้ ผู้แทนกรมการค้าภายในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรและผู้แทนการยางแห่งประเทศไทย ได้ร่วมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อน มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลให้กับผู้แทนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย